กรุงเทพฯ 28 พ.ค.- สมอ.กวดขันดูแลให้การผลิต นำเข้า จำหน่าย หมวกกันน็อก สำหรับผู้ใช้จักรยานยนต์ต้องมีคุณภาพตามมาตรฐานใหม่ คือ มอก. 369-2557 เทียบเท่ามาตรฐานยุโรป
นายอภิจิณ โชติกเสถียร เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เป็นประธานการประชุมชี้แจงเพื่อกำกับดูแลผลิตภัณฑ์หมวกนิรภัยหรือหมวกกันน็อก สำหรับผู้ใช้จักรยานยนต์ให้เป็นไปตามมาตรฐาน มอก. 369-2557 เท่านั้น ซึ่งมาตรฐานนี้เทียบเท่ามาตรฐานหมวกกันน็อคที่ใช้อยู่ในสหภาพยุโรป ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2559 แต่สมอ.ได้ให้เวลาผู้แก่ผู้ผลิต นำเข้า ปรับตัวยืดเวลาบังคับออกมา 1 ปีมาเป็นวันที่ 28 สิงหาคม 2560 แทน
ฉะนั้นหมวกกันน็อคที่ผลิตและจำหน่ายในประเทศไทยตั้งแต่ สิงหาคม 2560 เป็นต้นมา จะต้องมีคุณภาพ ตามมาตรฐาน มอก. 369-2557 เท่านั้น
นายอภิจิณ กล่าวแนะผู้ผลิต-นำเข้า จำหน่ายหมวกกันน็อกว่า หมวกกันน็อคต้องมีคุณภาพตามมาตรฐาน ห้ามผลิตหรือนำเข้าตามมาตรฐาน มอก. เก่า หากฝ่าฝืน จะมีโทษตามกฎหมาย ด้านผู้บริโภคเอง หากพบหมวกกันน็อกที่ไม่แสดงเครื่องหมายมาตรฐาน โปรดแจ้ง สมอ.จะได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปทำการตรวจและดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
นายวันชัย พนมชัย รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าว ที่ผ่านมาสมอ. ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบสถานที่ผลิต จำหน่าย หมวกกันน็อกหลายแห่งในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล พบการผลิตตาม มอก. เก่า (มอก. 369-2539) และมีการแสดงเครื่องหมายและฉลากไม่ถูกต้อง โดยผู้ประกอบการหลายรายยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการปฏิบัติตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรมหมวกนิรภัยสำหรับผู้ใช้รถจักรยานยนต์ มอก. 369-2557 เป็นจำนวนมาก โดยยังคงผลิตและติดเครื่องหมาย มอก. เก่า คือ มอก. 369-2539 ซึ่ง สมอ. ประกาศยกเลิกมาตรฐานเก่าไปแล้ว
สถิติการสุ่มตรวจของสมอ. ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาของปีงบ 61 สมอ.ออกสุ่มตรวจผู้ผลิตหมวกกันน็อคและผู้จำหน่าย พบว่า มีการจำหน่ายหมวกกันน็อคที่ไม่ได้มาตรฐานและดำเนินการยึดสินค้าและลงโทษตามกฎหมายไปแล้ว จำนวน 3 ราย หมวกกันน็อคยึดได้จำนวนรวม 3,000 ใบ
สำหรับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมหมวกนิรภัยสำหรับผู้ใช้รถจักรยานยนต์ใหม่ ตามมาตรฐานเลขที่ มอก. 369-3557 เป็นมาตรฐานเทียบเท่ามาตรฐานยุโรป มีการใช้ระบบทดสอบและปรับเปลี่ยนค่าคำนวณความปลอดภัย เทียบเท่ามาตรฐาน ECER22 โดยคำนึงถึงผลกระทบหลังจากผู้ขับขี่ประสบอุบัติเหตุ หากสวมหมวกนิรภัยที่ได้มาตรฐานก็จะช่วยลดความสูญเสียได้
นายวันชัย กล่าวว่า นับจากนี้ไป สมอ. จะดำเนินการตรวจติดตามผู้ทำ ผู้นำเข้า และผู้จำหน่ายอย่างเข้มงวด และหากพบว่ามีการกระทำความผิดจะถูกดำเนินคดีทางกฎหมายทันที สำหรับบทลงโทษในกรณีทำหรือนำเข้าผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรมโดยไม่ได้รับใบอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ร้านค้าที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 5,000-50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และแสดงเครื่องหมาย มอก. โดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุก 3 เดือน ปรับตั้งแต่ 100,000-1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ เพื่อปกป้องคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าที่มีคุณภาพ
รองเลขาธิการ สมอ. กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้ประชาชนตรวจสอบข้อมูลผลิตภัณฑ์ก่อนซื้อ และอย่าได้หลงเชื่อซื้อผลิตภัณฑ์ที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน เมื่อใช้แล้วอาจเกิดอันตรายจากการใช้ผลิตภัณฑ์นั้นได้ – สำนักข่าวไทย