กรุงเทพฯ 21
พ.ค. –ผู้ผลิตไฟฟ้าชีวมวล วอน รมว.พลังงานทบทวนอัตราค่าไฟฟ้า
รับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนใหม่จากที่ขีดเส้น ไม่เกิน 2.44 บาท/หน่วย ชี้ เหง้ามัน-ฟางข้าว-เหง้าข้าวโพด
ต้นทุนสูง ด้าน กฟผ.ศึกษาสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลประชารัฐ รอ ก.พลังงานไฟเขียว
ในงานเสวนารู้ลึก รู้จริงพลังงานหมุนเวียน
เดินหน้าอย่างไรให้คนไทยได้ประโยชน์
นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี
รองผู้ว่าการพลังงานหมุนเวียน และพลังงานใหม่
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ.
เปิดเผยว่า
มีแผนจะดึงวิสาหกิจชุมชมเข้ามาร่วมโครงการโรงไฟฟ้าประชารัฐชีวมวล โดย
กฟผ.ลงทุนร้อยละ 90 และวิสาหกิจฯลงทุนร้อยละ 10 เพื่อรวมลงทุนในการได้ประโยชน์จากการผลิตไฟฟ้าชีวมวลร่วมกัน
และส่งเสริมให้ชุมชนร่วมกันปลุกต้นไม้โตเร็วขายให้กับ กฟผ.
ซึ่งวิสาหกิจชุมชนฯจะได้เงินปันผลตามสัดส่วนของเงินลงทุน
และได้ประโยชน์จากการขายชิ้นไม้ ซึ่ง
กฟผ.เตรียมแผนงานใน 3 พื้นที่ กำลังผลิตแห่งละประมาณ 10 เมกะวัตต์ โดยเรื่องนี้ได้เสนอต่อ คณะกรรมการ กฟผ.แล้ว โดยต้นทุนจะสูงถึงกว่า 3 บาทต่อหน่วย
นอกจากนี้ ภาครัฐควรพิจารณาสร้างความเป็นธรรมระหว่าง
ผู้ซื้อไฟฟ้าอย่างเดียว หรือ consumer กับผู้ผลิตไฟฟ้าที่ทั้งซื้อและขายเข้าระบบ หรือ Prosumer เพราะ consumerเป็นผู้จ่ายเข้าระบบทั้งหมด ผ่านการลงทุนของ 3 การไฟฟ้าฯ ที่มีต้นทุนจากการลงทุนทั้งระบบสร้างสายส่งและสายจำหน่ายเพื่อรองรับการขายไฟมากขึ้น
เฉลี่ย 0.69 สตางค์ต่อหน่วย และจะสะท้อนไปในค่าไฟฟ้าผันแปร หรือ เอฟที ในขณะที่
Prosumer ได้ประโยชน์จากการขายไฟฟ้า
และใช้ไฟฟ้าจากระบบด้วย ดังนั้น อาจไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภคที่เสียค่าไฟฟ้า
ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่
คณะกรรมการกิจการพลังงาน หรือ กกพ. ต้องพิจารณาว่าควรมีความจำเป็นต้องเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้ผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติมหรือไม่
ด้านนายนที สิทธิประศาสน์ ประธานชมรมผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก(เอสพีพี
)ชีวมวล ระบุว่า ไม่เห็นด้วยที่ นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน กำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่
2.44 บาท/ลิตร เพราะต้นทุนการผลิตไฟฟ้าแตกต่างกัน ซึ่งควรกำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าจะแยกประเภท
ไม่เช่นนั้น โรงไฟฟ้าชีวมวล ที่ต้องการส่งเสริมเกษตร
และใช้สิ่งเหลือใช้มาทำประโยชน์ให้มากที่สุด ก็คงไม่เกิดขึ้น โดยในส่วนของฟางข้าว
เหง้ามัน ซังข้าวโพด มีต้นทุนมากกว่า 3 บาท/หน่วย และมีกำลังผลิตมากกว่าอีก 1
พันเมกะวัตต์ โดยปัจจุบันนี้
กำลังผลิตโรงไฟฟ้าชีวมวลมีราว 3,100-3,200 เมกะวัตต์ ประมาณ 231 แห่ง ในขณะที่กำลังผลิตตามแผนพัฒนากำลังไฟฟ้าระยะยาว
(พีดีพี ) ในสิ้นปี 2579 จะมีราว 5,570 เมกะวัตต์ -สำนักข่าวไทย