กรุงเทพฯ 15 พ.ค. – คณะกรรมการ SEA แจงความคืบหน้า เตรียมเสนอรัฐตั้งที่ปรึกษาหาคำตอบนโยบายพัฒนาพลังงานภาคใต้ คาดรู้ผลปีนี้
นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช รองปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานร่วมคณะกรรมการกำกับการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) เปิดเผยว่า คณะกรรมการฯ ยกร่างข้อกำหนดกรอบการศึกษา (ทีโออาร์) การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้ จะเสนอรัฐบาลออกทีโออาร์จ้างที่ปรึกษาศึกษาแผนยุทธศาสตร์ว่าภาคใต้จะมีพื้นที่ที่เหมาะสมตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือไม่ หากพบว่าไม่มีความเหมาะสมจะพิจารณาว่ามีพลังงานทางเลือกอื่นใดที่เหมาะสม คาดว่าจะใช้งบประมาณศึกษาประมาณ 50 ล้านบาท และคัดเลือกที่ปรึกษาภายใน 1-2 เดือน กรอบระยะเวลาศึกษา 9 เดือน แต่ภายใน 5 เดือนน่าจะสามารถตอบโจทย์ได้ว่าภาคใต้ควรจะมีโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือไม่ ส่วนการตัดสินใจขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาล
“คณะกรรมการประชุม 3 ครั้ง วางกรอบการศึกษาไว้แล้วและยกร่างทีโออาร์ครอบคลุมทุกทางเลือกของการพัฒนา และให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมการรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย กระบวนการ SEA ทั้งหมดเปิดเผยและโปร่งใส” นางสาวนันธิกา กล่าว
นางสาวนันธิกา กล่าวว่า หลังจากเปิดเผยกรอบการศึกษาแล้วจะเสนอกระทรวงพลังงานพิจารณาแหล่งเงิน เพื่อเข้าสู่กระบวนการจ้างตามระเบียบ เบื้องต้นอาจจะเป็นแหล่งเงินจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า หรือกองทุนอื่นที่สามารถนำมาใช้ได้ โดยยืนยันว่าจะไม่ใช้แหล่งเงินกู้เพื่อทำการศึกษา อย่างไรก็ตาม เมื่อมีผลการศึกษาก็จะนำข้อมูลไปเชื่อมโยงกับการปรับปรุงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว (พีดีดี) ใหม่ เพื่อใช้เป็นกรอบการพัฒนาและลงทุนโครงสร้างพื้นฐานพื้นที่ภาคใต้ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในอนาคต
ด้านนายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะประธานร่วมฯ กล่าวว่า คณะกรรมการฯ ได้ยกร่างข้อกำหนดการศึกษา SEA สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้ โดยยึดหลักการศึกษา SEA ซึ่งต้องครอบคลุมทุกทางเลือกการพัฒนา สามารถตอบคำถามต่อภาคประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องและใช้ประกอบการตัดสินใจของรัฐบาล ตลอดจนนำไปสู่การกำหนดการพัฒนาที่ยั่งยืนบนพื้นฐานการยอมรับของประชาชน
สำหรับการศึกษา SEA มีหัวใจหลัก คือ การศึกษาทางเลือกในการพัฒนาด้านพลังงานในพื้นที่ภาคใต้ โดยการศึกษาจะพิจารณาทางเลือกและประเมินผลกระทบแต่ละทางเลือก ทั้งในแง่ของเศรษฐกิจ สังคม ชุมชนและสิ่งแวดล้อม เพื่อพิจารณาว่าทางเลือกใดมีความเหมาะสมมากที่สุด โดยกระบวนการจะมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งการศึกษาจะครอบคลุมพื้นที่ภาคใต้ทั้งหมด 15 จังหวัด รวมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ด้วย
นายดนุชา กล่าวเพิ่มเติมว่า จะเป็นการศึกษาเชิงการพัฒนาพลังงานพื้นที่ภาคใต้ว่าจะมีทางเลือกเหมาะสมที่สุด โดยคาดว่าผลการศึกษาจะสามารถตอบปัญหาทุกส่วนได้ว่าภาคใต้ควรมีโรงไฟฟ้าหลักใด หรือเป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็กแบบชีวมวล หรือพลังงานทางเลือกอื่น หรือไม่ควรสร้างโรงไฟฟ้า แต่ใช้วิธีโยงสายส่งจากภาคกลาง หรือหันมาซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะศึกษาทุกทางเลือกว่ามีความเหมาะสมอย่างไร โดยใช้เกณฑ์ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยรูปแบบการศึกษา SEA จะเป็นระดับยุทธศาสตร์แตกต่างจากเดิมที่มีการตั้งคณะกรรมการไตรภาคี เพื่อศึกษาเฉพาะพื้นที่.-สำนักข่าวไทย