ธ.ก.ส.สำนักงานใหญ่ 4 พ.ค. – ธ.ก.ส.กำหนดแผนปี 61 เน้นฟื้นฟูสหกรณ์ ทุ่มสินเชื่อดอกเบี้ยผ่อนปรนดูแลรายย่อย 2.3 แสนล้านบาท
นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า กำหนดแผนงานในปีบัญชี 2561 ให้เป็นปีแห่งการฟื้นฟูสหกรณ์ เกษตรกรลูกค้า เพื่อใช้เป็นเครื่องมือหลักในการดูแลเกษตรกรรายย่อยเครือข่ายสมาชิก หวังให้เป็นช่องทางช่องทางรับซื้อสินค้าเกษตรมาทำการแปรรูป หรือช่วยระบายผลผลิตในช่วงฤดูการเก็บเกี่ยวจำนวนมากป้องกันปัญหาผลผลิตล้นตลาดดึงให้ราคาตกต่ำ โดย ธ.ก.ส.จะร่วมมือกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ทั้งปรับโครงสร้างการทำงาน บริหารจัดการ ให้เป็นมาตรฐาน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยอีกทางหนึ่ง ช่วงที่ผ่านมาบอร์ด ธ.ก.ส.เห็นชอบปรับโครงสร้างองค์กรแยกเจ้าหน้าที่ออกจากฝ่ายสินเชื่อทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อดูแลสหกรณ์โดยตรง จึงได้คัดสหกรณ์กลุ่มเป้าหมายที่มีศักยภาพประมาณ 1,200 แห่ง สร้างให้เป็นหัวขบวนดูแลเกษตรกรในชุมชน
สำหรับแผนทางเงินในปี 2561 ตั้งเป้าหมายปล่อยสินเชื่อ 750,000 ล้านบาท ยอดสินเชื่อเพิ่มขึ้น 93,000 ล้านบาท ทำให้ยอดสินเชื่อคงค้างประมาณ 1.45 ล้านล้านบาท ระดมเงินฝาก 112,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 คาดกำไรสุทธิประมาณ 10,000 ล้านบาท คุมยอดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ให้อยู่ในสัดส่วนร้อยละ 4 โดยปีนี้เตรียมโครงการสินเชื่อผ่อนปรนหลายด้าน เพื่อดูแลรายย่อย วงเงินประมาณ 230,000 ล้านบาท ผ่านมาตรการเกษตรประชารัฐเพื่อลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ประกอบด้วย โครงการลดต้นทุนให้เกษตรกรร้อยละ 4 วงเงิน 90,000 ล้านบาท และโครงการส่งเสริมการผลิตหรือจัดหาปุ๋ยสั่งตัดให้สถาบันเกษตรกร MLR-ร้อยละ 3 (ปัจจุบัน MLR เท่ากับร้อยละ 5) วงเงิน 3,600 ล้านบาท โครงการสินเชื่อ SMAEs ร้อยละ 4 วงเงิน 15,000 ล้านบาท โครงการสินเชื่อ Green Credit MRR-ร้อยละ 1 และ MLR-ร้อยละ 0.5 (ปัจจุบัน MRR เท่ากับร้อยละ 7) โครงการสินเชื่อเพื่อปรับโครงสร้างการผลิตการเกษตรสู่ความยั่งยืนร้อยละ 4 วงเงิน 5,000 ล้านบาท
โครงการสินเชื่อยกระดับปรับเปลี่ยนการผลิตเพื่อพัฒนาอาชีพผู้มีรายได้น้อย (XYZ) ร้อยละ 0.01 วงเงิน 15,000 ล้านบาท สินเชื่อเพื่อพัฒนาอาชีพผู้มีรายได้น้อย ดอกเบี้ยร้อยละ 0 ระยะเวลา 6 เดือน สำหรับการดูแลสวัสดิการผู้มีรายได้น้อยลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย 4 ล้านราย ส่งเจ้าหน้าที่ออกสัมภาษณ์ไปแล้ว 3.05 ล้านราย มีกลุ่มตัดสินใจร่วมอบรมอาชีพเสริมและพัฒนาอาชีพเดิม 2.3 ล้านราย ส่วนคนแก่อายุมากต้องการประกอบอาชีพแบบเศรษฐกิจพอเพียง 700,000 ราย คาดว่าสิ้นเดือนพฤษภาคมจะจัดเมนูฝึกอบรมเสร็จ และเตรียมเสนอที่ประชุม ครม. จ.สุรินทร์ วันที่ 8 พฤษภาคม พิจารณามาตรการรวบรวมผลผลิตผลไม้ วงเงิน 1,500 ล้านบาท ดอกเบี้ยผ่อนปรน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรระบายผลผลิต เริ่มนำร่องภาคตะวันออกช่วงกลางเดือนพฤษภาคมนี้
สำหรับผลการดำเนินงานปีบัญชี 2560 (1 เมษายน 2560-31 มีนาคม 2561) ได้ปล่อยสินเชื่อดูแลเศรษฐกิจในภาคชนบท 673,693 ล้านบาท จึงมีสินเชื่อคงค้าง 1.369 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 92,257 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.22 มียอดเงินฝากรวม 1.529 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากต้นปี 123,240 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.76 มีสินทรัพย์รวม 1.743 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.79 หนี้สินรวม 1.612 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.13 มีรายได้จากการดำเนินงาน 93,636 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายรวม 83,773 ล้านบาท จึงมีกำไรสุทธิ 9,863 ล้านบาท ขณะที่ NPLs อยู่ที่ร้อยละ 4.34 อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) ร้อยละ 12.04 .-สำนักข่าวไทย