สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน 3 พ.ค.-เครือข่ายประชาชนปกป้องประเทศ ร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน ตรวจสอบใช้รายการเดินหน้าประเทศไทย บิดเบือนประชาชนกรณีสัมปทานปิโตรเลียมแหล่งบงกช-เอราวัณ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 13.30 น. วันนี้ (3 พ.ค.) เครือข่ายประชาชนปกป้องประเทศ นำโดย พ.ท.พญ.กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี เข้ายื่นหนังสือร้องเรียน ขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน ผ่านนายสงัด ปัถวี รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ คณะกรรมการปิโตรเลียม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน และอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ กรณีปกปิดข้อมูลการเปิดประมูลสัมปทานแหล่งปิโตรเลียม 2 แหล่ง คือ บงกช และเอราวัณ ในอ่าวไทย และให้ข้อมูลอันเป็นเท็จ
โดย พ.ท.พญ.กมลพรรณ กล่าวว่า ทางเครือข่ายฯ ได้ติดตามการจัดสัมปทานแหล่งปิโตรเลียมดังกล่าว พบว่าการให้ข้อมููลของรัฐมนตรรีว่าการกระทรวงพลังงาน ผ่านรายการเดินหน้าประเทศไทย เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2561 ไม่น่าจะถูกต้อง โดยเฉพาะเรื่องที่ระบุว่าการจัดสรรปิโตรเลียมที่เสนอสัดส่วนการแบ่งกำไรให้แก่รัฐ ซึ่งต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 สวนทางกับประกาศกฎกระทรวงที่รัฐมนตรีว่าการกระทาวงพลังงานเป็นผู้ลงนามในการกำหนดแบบสัญญาที่ไปกำหนดค่าภาคหลวงการหักค่าใช้จ่ายของเอกชนให้หักไม่เกินครึ่งของปิโตรเลียมที่ขุดได้ และสามารถหักได้ทุกปี
พ.ท.พญ.กมลพรรณ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้กรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ระบุว่า กระทรวงพลังงาน โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ สามารถตรวจสอบมาตรวัดของทุกปากหลุมผลิตได้ภายใน 7 นาทีโดยไม่ต้องรอคู่สัมปทานรายงาน ซึ่งในข้อเท็จจริงจะเชื่อได้อย่างไรว่าสามารถตรวจสอบได้ตามที่กล่าวอ้าง รวมทั้งประกาศกฎกระทรวงที่ให้อำนาจเพียงคณะกรรมการปิโตรเลียมพิจารณาบริษัทที่เข้าร่วมประมูลเป็นรายบริษัท ทำให้ไม่มีการตรวจสอบของภาคประชาชน หรือสื่อมวลชน จึงไม่มั่นใจในเรื่องความโปร่งใส หรือการมีส่วนร่วม
พ.ท.พญ.กมลพรรณ กล่าวอีกว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ใช้รายการเดินหน้าประเทศไทยชี้แจงเรื่องดังกล่าว ซึ่งให้ข้อมูลที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง จึงเห็นวว่าเป็นการใช้คลื่นความถี่ของรัฐปกปิดข้อมูลบางส่วนเพื่อมิให้ประชาชนบางส่วนคัดค้านการจัดสรรปิโตรเลียมที่ไทยเสียเปรียบและสูญเสียความมั่นคงของรัฐ ถือว่าผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 60 รวมทั้งกรณีที่ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ซึ่งเป็นกรรมการบริษัท ปตท.สผ. หนึ่งในผู้ประมูลและเป็นกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ซึ่งทำหน้าที่อนุมัติหลักเกณฑ์ จะถือว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน โดยจะเห็นได้จากการได้รับโบนัสปีที่ผ่านมาที่เพิ่มขึ้นตามผลกำไรของบริษัท จึงขอให้ผู้ตรวจฯ เร่งตรวจสอบ เพราะขณะนี้อยู่ในช่วงเปิดรับซองประมูล ก่อนจะปิดในวันที่ 24 พฤษภาคมนี้.-สำนักข่าวไทย