กรุงเทพฯ 29 ก.ย. – บมจ.ไทยออยล์ยังประเมินราคาน้ำมันดิบดูไบปลายปีที่ 45 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล พร้อมยืนยันจะตัดสินใจขั้นสุดท้ายลงทุนกว่าแสนล้านพิ่มกำลังกลั่นเป็น 400,000 บาร์เรลต่อวัน ในไตรมาส 2/2560 และจะได้แนฟทาเกือบ 2 ล้านตันต่อปี ต่อยอดเป็นวัตถุดิบปิโตรเคมี คุยไม่ต้องลงทุนเพิ่มหากยกเลิกแก๊สโซฮอล์ 91
นายอธิคม เติบศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไทยออยล์ กล่าวว่า บริษัทติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกอย่างใกล้ชิด ในขณะนี้ยังตั้งสมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบปลายปีนี้แจะอยู่ที่ค่าเฉลี่ยประมาณ 45 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ในขณะกำลังกลั่นเดินหน้าเต็มที่ตอบรับความต้องการของไทยและอาเซียนที่เพิ่มขึ้น
“เรายังมองน้ำมันปลายปีนี้ที่ 45 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จากปัจจุบันเคลื่อนไหวประมาณ 43 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ปีนี้ทำประกันความเสี่ยงต่ำไม่ถึงร้อยละ 50 เพราะประเมินแล้วโอกาสที่ราคาน้ำมันจะตกต่ำระดับที่รุนแรงเป็นเรื่องน้อยมาก” นายอธิคม กล่าว
นายอธิคม กล่าวว่า ปีนี้เดินเครื่องกำลังกลั่นเกิน 300,000 บาร์เรลต่อวัน หรือประมาณกว่าร้อยละ 110 จากที่ไทยออยล์มีกำลังกลั่น 275,000 บาร์เรลต่อวัน เพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศและอาเซียนที่เพิ่มขึ้น โดยปีนี้ไทยออยล์ลดการส่งออกลงมีการจำหน่ายในประเทศร้อยละ 87 เพราะจะเห็นได้ว่าความต้องการใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินของไทยเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 12 หรืออยู่ที่กว่า 29 ล้านลิตรต่อวัน และดีเซลเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 อยู่ที่ประมาณ 62 ล้านลิตรต่อวัน และล่าสุดค่าการกลั่นเดือนกันยายนเฉลี่ยแล้วสูงกว่าเดือนสิงหาคม โดยทั้งเบนซินและดีเซลได้มากกว่า 10 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล หากดูส่วนต่างวานนี้ (28 ก.ย.) ที่ตลาดสิงคโปร์เบนซินสูงกว่าราคาน้ำมันดิบ 16 ดอลลาร์สหรัฐ และดีเซลสูงกว่า 12 ดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ ตลาดสิงคโปร์วันที่ 28 กันยายนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดที่ 42.29 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เบนซินปิดที่ 58.13 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ดีเซลปิดที่ 54.10 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
นายอธิคม กล่าวด้วยว่า ไทยออยล์รอความชัดเจนจากภาครัฐกรณีจะยกเลิกแก๊สโซฮอล์ 91 หรือไม่ หากยกเลิกทางไทยออยล์ไม่ต้องลงทุนอะไรเพิ่ม เพราะทางโรงกลั่นจะปรับปรุงแผนกระบวนการผลิต สร้างสมดุลระหว่างโรงกลั่นและโรงงานอะโรเมติกส์ ซึ่งสามารถปรับเพิ่มน้ำมันพื้นฐานเป็นเบนซิน 95 ได้เพิ่มขึ้น ดังนั้น อาจไม่ต้องนำเข้าเบนซิน 95 หรือ อาจต้องนำเข้าเป็นช่วง ๆ ขึ้นอยู่กับราคาผลิตภัณฑ์ในช่วงนั้นว่าจะเลือกโหมดการผลิตอย่างไร
ส่วนโครงการ “กรีนด์ฟิลด์” ที่จะเพิ่มกำลังกลั่นเป็น 400,000 บาร์เรลต่อวันในปี 2562 วงเงินลงทุนประมาณ 3,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นายอธิคม กล่าวว่า บอร์ดอนุมัติศึกษารายละเอียด พร้อมกันการทำศึกษาออกแบบด้านวิศวกรรมไตรมาส 4 ปีนี้จะรู้ความชัดเจนร้อยละ 30 และไตรมาส 2/2560 จะทราบผลก่อนตัดสินใจร้อยละ 10 หลังจากนั้นจะประเมินว่าคุ้มค่าลงทุนหรือไม่ หากคุ้มค่าก็จะเชิญผู้รับเหมาเข้าร่วมประมูลในไตรมาส 2/2560 โดยการศึกษาการลงทุนจะครอบคลุมถึงความเสี่ยงในอนาคต ทั้งด้านเศรษฐกิจ ทิศทางพลังงานทดแทนและรถยนต์นั่งไฟฟ้า (อีวี) โดยจะเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสม ซึ่งจากการประเมินเรื่องรถอีวี เบื้องต้นพบว่าระยะเวลาอันใกล้โครงสร้างพื้นฐานยังไม่เพียงพอต่อการรองรับ โดยภาคขนส่งนั้น ในกลุ่มผู้ใช้เบนซินอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปใช้อีวี และอื่น ๆ ทดแทน แต่ในกลุ่มดีเซลยังจำเป็นทั้งการขนส่งขนาดใหญ่และเครื่องบิน ดังนั้น เทคโนโลยีของการเพิ่มกำลังกลั่นจะเน้นการผลิตดีเซลและน้ำมันเครื่องบินเป็นหลัก
“เราเห็นว่ารถอีวี ยังไม่จูงใจให้เกิดการใช้อย่างแพร่หลายเร็ว ๆ นี้ และการเลือกเทคโนโลยีการกลั่นจะเลือกไปผลิตดีเซล และน้ำมันเจ็ท เพราะเครื่องบินยังคงใช้น้ำมันเป็นหลักยังไม่เปลี่ยนไปใช้ไฟฟ้าหรือพลังงานทดแทน ขณะเดียวกันกำลังกลั่นที่เพิ่มขึ้นจะส่งออกไปในอาเซียนที่เศรษฐกิจกำลังเติบโต เพราะกลุ่มนี้ยังเป็น NET IMPORT แม้ว่าหลายประเทศ เช่นเวียดนาม อินโดนีเซีย มีแผนขยายกำลังกลั่นเช่นกันก็ตาม”นายอธิคม กล่าว
นอกจากนี้ โครงการกรีนฟิลด์ยังได้ผลผลิตแนฟทา แบ่งออกเป็นประเภท Light และ HEAVY ประเภทละกว่า 900,000 ตันต่อปี ซึ่งจะเป็นวัตถุดิบต่อยอดนำไปผลิตปิโตรเคมี ซึ่งกลุ่ม ปตท.กำลังหารือร่วมกันว่าจะสร้างศักยภาพร่วมกันอย่างไร โดยในส่วนนี้จะสามารถทดแทนก๊าซธรรมชาติในประเทศที่กำลังลดลงและส่งผลต่อวัตถุดิบปิโตรเคมีระยะยาว.-สำนักข่าวไทย