กรุงเทพฯ 26 เม.ย. – ปั๊มน้ำมันและก๊าซฯ ในเมืองลดลง เหตุคอนโดมิเนียมแย่งพื้นที่ ส่วนยอดใช้น้ำมันไตรมาส 1 พุ่งตามภาวะเศรษฐกิจ
นางอุษา ผ่องลักษณา รองอธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยว่า ปั๊มเชื้อเพลิงทั้งน้ำมันและก๊าซในพื้นที่เมืองชั้นในขณะนี้ยอมรับว่าลดน้อยลงตลอดและกลายเป็นคอนโดมิเนียมในหลายแห่ง ซึ่งจากที่กรมฯ ได้สำรวจความเห็นของผู้ประกอบการปั๊มน้ำมัน พบว่า ยังไม่ต้องการทำปั๊มใต้คอนโดมิเนียมเช่นเดียวกับต่างประเทศ แต่จะไปก่อสร้างปั๊มในพื้นที่นอกเมืองทดแทน ดังนั้น กรมฯ จึงยังไม่ออกระเบียบเรื่องการจัดตั้งปั๊มน้ำมันใต้คอนโด เพียงแต่ผู้ใช้ในเมืองคงสะดวกน้อยลง เพราะต้องออกไปเติมนอกเมือง
“หลายพื้นที่ใน กทม.ด้านในทั้งปั๊มก๊าซฯ ปั๊มน้ำมันปิดตัวลงและกลายเป็นคอนโดมิเนียม คนซื้อที่ดินเพื่อเก็งกำไร บางครั้งก็ใช้กลยุทธ์แจ้งว่าปั๊มสร้างความเดือดร้อน ผิดกฎระเบียบต่าง ๆ มีผลกระทบสิ่งแวดล้อม ก็แจ้งให้กรมฯ ไปตรวจสอบบ่อย ๆ บางทีเจ้าของปั๊มรำคาญขายที่ดิน รูปแบบเช่นนี้ทำให้ปั๊มในเมืองด้านในลดน้อยลง” นางอุษา ระบุ
สำหรับปั๊มบริการเชื้อเพลิงทั้งน้ำมันและก๊าซฯ ในเขต กทม.ไตรมาส 1/2561 มี 900 แห่ง เพิ่มขึ้น 11 แห่ง เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ 1/2560 โดยยอดจดทะเบียนยกเลิกกิจการมีถึง 18 แห่ง และจดทะเบียนเพิ่ม 20 แห่ง ซึ่งที่ลดลงก็เป็นพื้นที่ด้านในเป็นหลัก
ส่วนปั๊มบริการน้ำมันและก๊าซฯ ทั่วประเทศเพิ่มขึ้น จาก 26,691 แห่ง เป็น 27,710 แห่ง เมื่อเทียบไตรมาส 1 ของช่วงปี 2560 และ 2561 แต่หากแยกเป็นปั๊มเอ็นจีวีพบว่าลดลง 1 แห่ง เหลือ 461 แห่ง ส่วนปั๊มแอลพีจีลดลง 11 แห่ง เหลือ 2,082 แห่ง ซึ่งยอดปั๊มก๊าซพบว่ายอดปิดตัวลดลง เนื่องจากหลายแห่งปรับตัวขายน้ำมันร่วมด้วย รวมทั้งร้านค้าสะดวกซื้อ ทำให้ดำเนินธุรกิจอยู่ได้
สำหรับการใช้น้ำมันไตรมาส 1/2561 พบว่าเพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจและการเดินทาง น้ำมันกลุ่มเบนซินอยู่ที่ 30.8 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 ดีเซล 67 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 โดยเฉพาะเดือนมีนาคมนั้น ยอดใช้ดีเซลหน้าปั๊มเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 68.9 ล้านลิตรต่อวัน อย่างไรก็ตาม ยังประเมินว่ายอดใช้เฉลี่ยของดีเซลปีนี้จะอยู่ที่ประมาณ 65 ล้านลิตรต่อวัน และการใช้น้ำมันภาพรวมของประเทศจะขยายตัวร้อยละ 5.1 ขณะที่ยอดใช้ก๊าซเพื่อการขนส่งทั้งเอ็นจีวีและแอลพีจีลดลง อย่างไรก็ตาม จากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นก็ทำให้ยอดใช้ก๊าซลดลงไม่มากนัก เมื่อเทียบกับช่วงราคาน้ำมันถูกเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ส่วนการใช้แอลพีจีเฉลี่ยต่อวันของไตรมาส 1/2561 อยู่ที่ 17.8 ล้าน กก./วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนคิดเป็นร้อยละ 9.5 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของการใช้ทุกภาคยกเว้นภาคขนส่งที่มีปริมาณการใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 3.4 ล้าน กก./วัน ลดลงร้อยละ 10.8 (โดยรถยนต์ที่ใช้แอลพีจี เหลือประมาณ 1,082,439 ลดลงร้อยละ 7.7) ส่วนแอลพีจี ปิโตรเคมีใช้เพิ่มขึ้นสูงที่สุดอยู่ที่ 6.5 ล้าน กก./วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.9 ภาคอุตสาหกรรมใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 1.9 ล้าน กก./วัน คิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.5 และภาคครัวเรือนเฉลี่ยอยู่ที่ 6.1 ล้าน กก./วัน
ส่วนการใช้เอ็นจีวีไตรมาสที่ 1/2561 เฉลี่ยอยู่ที่ 6.5 ล้าน กก./วัน ลดลงร้อยละ 8.3 เป็นผลต่อเนื่องจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงปรับตัวลดลงตั้งแต่ต้นปี 2559 ทำให้ประชาชนและรถบรรทุกสินค้าหันไปใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยมา และส่งผลให้มีสถานีบริการเอ็นจีวีทยอยปิดตัวลงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับรถยนต์จดทะเบียนใหม่ประเภทเชื้อเพลิงเอ็นจีวีลดลงคิดเป็นร้อยละ 3.1 เหลือ 387,792 (อ้างอิงข้อมูลกรมการขนส่งทางบก)
สำหรับการนำเข้าส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศของไตรมาสที่ 1/2561 เฉลี่ยนำเข้าน้ำมันดิบ 979,061 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.0 มูลค่า 63,451 ล้านบาท/เดือน ,น้ำมันสำเร็จรูปมีปริมาณนำเข้าลดลงอยู่ที่ 64,553 บาร์เรล/วัน ลดลงร้อยละ 4.9 มีมูลค่า4,307 ล้านบาท/เดือน โดยพบว่ามีการนำเข้าน้ำมันเบนซินพื้นฐาน และแอลพีจีเพิ่มขึ้น ขณะที่ดีเซลพื้นฐาน เตา และอากาศยาน มีการนำเข้าลดลง สำหรับการนำเข้า แอลพีจีมีปริมาณเฉลี่ยอยู่ที่ 57,323 ตัน/เดือน คิดเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.4 เนื่องจากความต้องการใช้แอลพีจีมีเพิ่มสูงขึ้นกว่าช่วงเดียวของปีก่อน คิดเป็น ร้อยละ 9.5 สำหรับการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป เฉลี่ยอยู่ที่ 191,655 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนคิดเป็นร้อยละ 30.1 โดยพบว่ามีการส่งออก เบนซิน ดีเซลพื้นฐาน น้ำมันอากาศยาน น้ำมันเตา และแอลพีจีปริมาณที่เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ช่วงไตรมาสที่ 1/2561 มีการปิดซ่อมบำรุงบางส่วนของโรงกลั่นบางจากฯ และพีทีทีจีซี รวม 26 วัน และโรงแยกก๊าซ 15 วัน โดยมีจำนวนวันปิดซ่อมบำรุงน้อยกว่าช่วงเดียวกันของปี 2560 ที่มีจำนวนวันปิดซ่อมบำรุงรวม 99 วัน จึงส่งผลให้มีปริมาณการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปประเภท ดีเซลพื้นฐาน เตา และ อากาศยานลดลง ขณะที่การนำเข้าน้ำมันเบนซินพื้นฐานมีปริมาณมากขึ้น เนื่องจากโรงกลั่นยังคงมีข้อจำกัดในการผลิตน้ำมันเบนซินพื้นฐานประเภท GBASE 2 ซึ่งเป็นน้ำมันเบนซินพื้นฐานเพื่อใช้ในการผสมเพื่อผลิต GSH95 E20 และ E85 ได้ ประกอบกับความต้องการใช้น้ำมันแก๊สโซฮฮล์ประเภทดังกล่าวปริมาณการใช้เติบโตอย่างต่อเนื่อง จึงจำเป็นต้องมีการนำเข้ามาในประเทศเพิ่มขึ้นเช่นกัน. – สำนักข่าวไทย