กรุงเทพฯ 25 เม.ย. – ธปท.เผยผลการศึกษาพบราคาแกงเขียวหวานถุงภาคใต้-อีสานแพง ขณะภูเก็ต พังงา สุราษฎ์ธานี มีค่าครองชีพสูงที่สุด
นายปิติ ดิษยทัต ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้เปิดเผยผลการสำรวจหัวข้อจากตลาดสดถึงห้างสรรพสินค้า 5 ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับราคาสินค้าจาก Big Data พบว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2549 – 2559 เงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 26 โดยสินค้าประเภทอาหารมีการปรับราคาเพิ่มขึ้นมากถึงร้อยละ 80 ทำให้ผู้บริโภคมีความรู้สึกว่าราคาอาหารแพงค่าครองชีพสูง แม้ว่าเงินเฟ้อจะต่ำ ตรงข้ามกับสินค้าประเภทอิเล็กทรอนิกส์ เช่น โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ เเละเสื้อผ้า ที่แม้ราคาปรับลดลง แต่ผู้บริโภคไม่รู้สึกถึงการปรับลดราคา เนื่องจากผู้บริโภคไม่ได้ซื้อสินค้าอิเล็กทรอนิกส์บ่อย ๆ แตกต่างจากอาหารที่ต้องซื้อกินทุกวัน
นายทศพล อภัยทาน หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยด้านเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ เปิดเผยว่าการตั้งราคาสินค้าเเละบริการในภาคต่าง ๆ แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญขึ้นอยู่กับวัตถุดิบที่หาได้ในพื้นที่ ค่าแรงและการขนส่ง ซึ่งจากการศึกษาราคาแกงเขียวหวานถุง พบว่าภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือบางจังหวัดมีราคาแพงกว่าภาคอื่น ๆ และจากข้อมูลของราคาสินค้ายังนำมาเปรียบเทียบค่าครองชีพระหว่างภาค โดยพบว่าค่าครองชีพประชาชนเฉลี่ย 10 ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 7,000 บาทต่อเดือน เปรียบเทียบกับเดือนธันวาคม 2560 อยู่ที่ 8,500 บาทต่อเดือน โดยค่าครองชีพจังหวัดภาคใต้ตอนบน เช่น ภูเก็ต พังงา สุราษฎร์ธานี มีค่าครองชีพสูงสุดประมาณ 9,000 บาทต่อเดือน ส่วนภาคเหนือตอนล่าง เช่น ตาก นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ มีค่าครองชีพต่ำที่สุด ประมาณ 8,000 บาทต่อเดือน มีค่าครองชีพต่างกันประมาณ 1,000 บาทต่อเดือน
ด้านนางสาวพิม มโนพิโมกษ์ นักวิจัยชำนาญการ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ กล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลสินค้า 24,000 รายการ พบว่าการปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 7 เดือนต่อครั้ง โดยหมวดที่ปรับราคาบ่อยที่สุด คือ หมวดอาหารและเครื่องดื่ม ส่วนหมวดเครื่องแต่งกาย ปรับราคามากกว่า 1 ปีต่อครั้ง และพบว่าหมวดบันเทิงและการศึกษาจะมีขนาดการปรับราคาขึ้นและลงรุนแรงที่สุด ส่วนหมวดสุราและยาสูบปรับราคาในสัดส่วนที่น้อยมาก หรือไม่ค่อยจะเปลี่ยนแปลงราคา
ทั้งนี้ งานวิจัยดังกล่าวได้มีข้อสรุปว่าการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของนโยบายการเงิน แต่สะท้อนปัจจัยเกี่ยวกับโครงสร้างการผลิตและความต้องการของตลาดมากกว่า.- สำนักข่าวไทย