กรุงเทพฯ 24 เม.ย. – ทีมข่าวสำนักข่าวไทย ยังเกาะติดการทุจริตเงินกองทุนเสมาพัฒนาชีวิตต่อเนื่อง ซึ่งหลังพบการทุจริต ทำให้กระทรวงศึกษาธิการต้องระงับการเบิกจ่ายเงินกองทุนฯ ในปี 2561 เป็นการชั่วคราว ทำให้นักศึกษาและครูอัตราจ้างต่างรอคอยด้วยความหวัง บนความยากลำบากในการดำเนินชีวิต ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามเร่งเยียวยาช่วยเหลือให้เร็วที่สุด
อง เด็กชายชาวม้ง นักศึกษาวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีพะเยา 1 ใน 198 คน ที่ได้รับผลกระทบจากการทุจริตเงินกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต ยังรอคอยเงินที่ไม่เคยได้รับตั้งแต่เข้าเรียน ครอบครัวยากจน ต้องปลูกผักขายให้โรงเรียน เพื่อหารายได้ ทั้งยังเป็นหนี้ กยศ. และหนี้วิทยาลัย ที่ยืมมาจ่ายค่าเทอมตลอด 2 ปี
กองทุนเสมาพัฒนาชีวิต ก่อตั้งปี 2542 พบทุจริตครั้งแรกปี 2548 เรื่อยมาจนถึงปี 2560 ตลอดกว่า 20 ปีที่ผ่านมา คณะกรรมการกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต จะประชุมพิจารณาโอนจ่ายเงินแค่ปีละครั้งเท่านั้น แต่หลังเรื่องแดงได้เรียกประชุมด่วน เร่งหาทางเยียวยา และปัญหานี้คาดว่าจะไม่สามารถสรุปจบแค่ครั้งเดียวตามธรรมเนียมปฏิบัติที่ทำกันมากว่า 2 ทศวรรษ
จากการตรวจสอบพบว่า กองทุนเสมาฯ ได้เปิด 3 บัญชี เพื่อบริหารเงินกองทุนฯ บัญชีแรก ฝากประจำ ฝากเงิน 600 ล้านบาท เป็นเงินต้นของกองทุนฯ ที่ได้จากการออกสลากการกุศลพิเศษของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล บัญชีที่ 2 ฝากประจำ เพื่อรับดอกเบี้ยบัญชีแรก และบัญชีที่ 3 สำหรับถอนเงินเพื่อโอนจ่ายสถานศึกษา ขณะนี้เงินต้นอยู่ครบ และมีดอกเบี้ยกว่า 49 ล้านบาท โดยเบื้องต้นประเมินยอดค้างจ่ายให้กับวิทยาลัยพยาบาลและโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ รวม 22 ล้านบาท หลังจากนี้เตรียมหารือกรมบัญชีกลาง นำดอกเบี้ยมาเยียวยาได้ทันในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมนี้ ส่วนความกังวลของครูอัตราจ้างที่หวั่นถูกเลิกจ้างหลังมีการทุจริตนั้น กระทรวงฯ ยืนยันจ้างต่อ ขณะที่การให้ทุนกับนักศึกษาวิทยาลัยพยาบาล หลังปี 2560 มีมติของกระทรวงการคลังให้เพิ่มเงินทุนต่อปี จากเดิม 40,000 บาท เป็น 55,000 บาทนั้น จะเริ่มให้ตั้งแต่ปีการศึกษา 2561 เป็นต้นไป
ความคืบหน้าการสืบสวนข้อเท็จจริงล่าสุด เตรียมสรุปข้อเท็จจริงให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 7 พฤษภาคมนี้ ส่วนผู้กระทำผิด นอกจากนางรจนา อดีตข้าราชการ ศธ.ที่รับสารภาพ ยังพบมีข้าราชการระดับสูง อดีตปลัด รองปลัด และเจ้าหน้าที่กว่า 10 ราย เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
แม้หลายฝ่ายจับมือเร่งสะสางปมปัญหาที่หมักหมมยาวนาน โดยเฉพาะการดูแลเด็กและครูอัตราจ้าง แต่ความเห็นของอดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กลับมองว่า การเยียวยาให้เกิดเป็นรูปธรรมช่วงกลางปีนี้ ช้าเกินไป ทั้งที่กระทรวงฯ ควรทำอะไรได้มากมาย และเร็วกว่าที่เป็น. – สำนักข่าวไทย
ชมผ่านยูทูบ