กรุงเทพฯ 22 เม.ย.-คณะกรรมการร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ ชุดที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ยืนยันการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจที่ผ่านมาไม่สูญเปล่า และจะนำข้อคิดเป็นที่เป็นประโยชน์มาปรับใช้ โดยเนื้อหาในการปฏิรูปตำรวจต้องไม่เปิดช่องทางให้ตำรวจรีดไถประชาชน และตำรวจเองต้องได้รับความเป็นธรรมในการแต่งตั้งโยกย้าย
เวลา 3 ชม.ในการประชุมนัดแรกของคณะกรรมการร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ได้ข้อสรุปว่าจะมีการยกร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติขึ้นใหม่ทั้งฉบับ ไม่ใช่พิจารณาแก้ไขเฉพาะบางประเด็นตามที่คณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ ชุดของ พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เสนอมาเท่านั้น นี่แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวในคณะกรรมการชุดแรกหรือไม่
มือกฎหมายรัฐบาลอย่าง นายวิษณุ เครืองงาม รองนายกรัฐมนตรี แสดงความเห็นว่า แม้จะยกร่างใหม่แต่จะนำข้อมูลที่คณะกรรมการปฏิรูปตำรวจของพล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ที่ได้ศึกษาและยกร่างมาแล้ว นำมาใช้ไม่เสียเปล่าอย่างแน่นอน และเรื่องนี้นายกรัฐมนตรีกำชับว่า ขอให้ดำเนินการโดยเร่งด่วน
สำหรับเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฉบับใหม่นั้น คณะกรรมการเห็นว่าจะต้องทำเพื่อตอบโจทย์ 2 ประการ คือ แก้ปัญหาความทุกข์ของประชาชน จากการทำหน้าที่ของตำรวจ และแก้ปัญหาให้ตำรวจเอง โดยเฉพาะการเติบโตไปตามสายงานได้อย่างปกติ โดยการปฏิรูปจะยึดกรอบ 6 ข้อ คือ การถ่ายโอนภารกิจที่ไม่ใช่งานตำรวจแท้ออกไปให้หน่วยงานอื่น อำนาจสอบสวนควรอยู่กับตำรวจหรือหน่วยงานอื่น การแต่งตั้งโยกย้ายต้องกำหนดกฎเกณฑ์ไว้ให้ชัดเจนในกฎหมายหลัก แก้ปัญหาขาดแคลนงบประมาณและอุปกรณ์ที่จำเป็นในการปฏิบัติหน้าที่ ระบบนิติวิทยาศาสตร์ควรขึ้นตรงกับตำรวจหรือเป็นอิสระ การดูแลสวัสดิการ รวมถึงระบบร้องเรียน ร้องทุกข์ภายในของตำรวจเอง
สำหรับสาเหตุที่มีการตั้งคณะกรรมชุดใหม่ขึ้นมานั้น พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร ที่ปรึกษากรรมการปฏิรูปตำรวจ สภาปฏิรูปแห่งชาติ เปิดเผยกับสำนักข่าวไทยว่า ที่ผ่านมาคณะกรรมการของ พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ไม่ได้มีการพิจารณาเกี่ยวกับการสอบสวน มีแต่เพียงเรื่องโครงสร้างตำรวจ การเลือกผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และหลักเกณฑ์การแต่งตั้งโยกย้ายเท่านั้น ซึ่งไม่มีความเป็นรูปธรรม และยังไม่สามารถแก้ปัญหาของประชาชนและตำรวจได้
ขณะที่ฝั่งของหน่วยงานที่ต้องถูกปรับโครงสร้างอย่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติเอง ต่างยังไม่มีท่าทีเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ โดย พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา โฆษก สตช. กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า ต้องดูรายละเอียดของร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้ก่อน จึงจะตอบได้ว่า สตช.ได้รับผลกระทบอย่างไร หลังจากนี้คงต้องจับตาดูว่าแนวทางการปฏิรูปตำรวจของคณะกรรมการชุดใหม่ จะตอบโจทย์ในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และการใช้อำนาจหน้าที่เกินขอบเขตของตำรวจได้หรือไม่.-สำนักข่าวไทย