สตูล 20 เม.ย.- ผอ.อุทยานธรณีสตูลเชิญชวนชาวไทยร่วมมิติแห่งความภาคภูมิใจและพัฒนาสร้างความยั่งยืนดินแดนประวัติศาสตร์ที่ยูเนสโกประกาศเป็นอุทยานธรณีโลกแห่งแรกประเทศไทย ค้นพบฟอสซิลดึกดำบรรพ์ 6 ยุค กว่า 300 ชิ้น
นายณรงค์ฤทธิ์ ทุ่งปรือ ผู้อำนวยการอุทยานธรณีสตูล เชิญชวนประชาชนทั่วประเทศร่วมกันอนุรักษ์ดินแดนดึกดำบรรพ์แห่งนี้ และร่วมบริหารจัดการพื้นที่ให้เกิดความยั่งยืนในทุกด้าน หลังจากองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ประกาศให้อุทยานธรณีสตูล (Satun Geopark) เป็นอุทยานธรณีโลก (Satun UNESCO Global Geopark) แห่งแรกของประเทศไทย เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2561 ซึ่งผู้สนใจสามารถเข้ามาศึกษาความเป็นประวัติศาสตร์ของการค้นพบฟอสซิลช้างดึกดำบรรพ์ในจังหวัดสตูลและอำเภอทุ่งหว้า โดยเก็บรักษาไว้ภายในศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราช พิพิธภัณฑ์ช้างดึกดำบรรพ์ทุ่งหว้า (Satun Geopark Information Center) ซึ่งมีการจัดแสดงตัวอย่างในแต่ละยุคให้ชมครบทั้ง 6 ยุค ได้แก่ ยุคแคมเบรียน ยุคออร์โดวินเชียน ยุคไซลูเรียน ยุคดีโวเนียน ยุคคาร์บอนิเฟอรัส และยุคเพอร์เมียน รวมถึงฟอสซิลชิ้นไฮไลท์อย่างฟอสซิสกรามช้างสเตโกดอน และฟอสซิลกระดูกฟันของแรด ได้จัดแสดงให้ชมกันแค่บางส่วน ส่วนใหญ่ยังคงเก็บรวบรวมไว้ไม่ได้นำมาจัดแสดง หากอยากชมคงต้องขอเป็นกรณีพิเศษ ถือได้ว่าซากดึกดำบรรพ์เหล่านี้มีคุณค่ามากในทางวิชาการ และนำมาปรับเป็นแหล่งเรียนรู้และการท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี
นายณรงค์ฤทธิ์ อธิบายว่า การพบฟอสซิลส่วนฟันกรามของ “ช้างสเตโกดอน” ที่มีอายุเก่าแก่กว่าช้างแมมมอธ อายุอยู่ในสมัยไพลสโตซีน (Pleistocene) หรือประมาณ 1.8-0.01 ล้านปีก่อน ซึ่งเก่าแก่กว่ามาก และเป็นการค้นพบแห่งแรกแห่งเดียวในพื้นที่ภาคใต้ โดยฟอสซิลดังกล่าวถูกค้นพบเมื่อปี 2551 ในถ้ำวังกล้วย อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล หลังจากชาวบ้านได้เข้าไปหากุ้งหาปูในถ้ำตามวิถีปกติ และได้พบซากดึกดำบรรพ์ที่มีลักษณะเป็นสีน้ำตาลไหม้ น้ำหนักประมาณ 5.3 กก. ยาว 44 ซม. สูง 16 ซม. เมื่อตรวจสอบจากสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือเฉลิมพระเกียรติ และกรมทรัพยากรธรณีแล้ว จึงทราบว่าเป็นกระดูกฟันกรามของช้างสเตโกดอน ส่วนถ้ำวังกล้วยปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น “ถ้ำเลสเตโกดอน”
ผอ.อุทยานธรณีสตูล กล่าวอีกว่า ยังได้ค้นพบฟอสซิลฟันกรามของช้างเอลิฟาส ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของช้างเอเชีย คาดว่ามีอายุร่วมสมัยเดียวกันกับช้างสเตโกดอน รวมทั้งฟอสซิลแรดชวา กระซู่ เต่า หอย หมึก ขวานหินของมนุษย์โบราณ รวมซากดึกดำบรรพ์ที่พบแล้วกว่า 300 ชิ้น.-สำนักข่าวไทย