กรุงเทพฯ 20 เม.ย. – รมว.พลังงานเปิดไพ่อนาคตนำเข้าแอลเอ็นจี ไม่มีการทำสัญญาระยะยาว ให้เอกชนและภาครัฐแข่งขันนำเข้า ย้ำไม่กระทบความมั่นคงแต่ทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าต่ำที่สุด พร้อมเสนอบอร์ด กพช.จันทร์นี้กำหนดกรอบพีดีพีใหม่และประมูลแหล่งเอราวัณ-บงกช
นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานวันจันทร์นี้ (23 เม.ย.) จะมีการพิจารณาเรื่องกรอบแผนพัฒนาไฟฟ้าระยะยาว (พีดีพี) และการเปิดประมูลแหล่งสัมปทานปิโตรเลียมหมดอายุในปี 2565-2566 คือ แหล่งเอราวัณและบงกช และการกำหนดกรอบพิจารณาแผนพีดีพี โดยเป้าหมายสำคัญ คือ ความมั่นคงและต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ต่ำ ซึ่งกรอบทั้งหมดจะเกี่ยวเนื่องกับการวางแผนด้านอื่น ๆ เช่น การนำเข้าก๊าซธรรมชาติ หรือแอลเอ็นจี
ดังนั้น การนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีในอนาคตจะเป็นการแข่งขันภายใต้การเปิดให้บุคคลที่ 3 (Third Party Access Regime: TPA Regime) เข้ามาใช้ท่อก๊าซธรรมชาติและคลังของ บมจ.ปตท. รวมทั้งคลังลอยน้ำ (เอฟเอสอาร์ยู ) ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ (กฟผ.) 5 ล้านตัน/ปี โดยคลังแอลเอ็นจีของ ปตท.ประกอบด้วย คลังมาบตาพุด 11.5 ล้านตัน และคลังหนองแฟบกำลังก่อสร้าง 7.5 ล้านตัน ซึ่งคลังมาบตาพุดมีสัญญาระยะยาว โดย ปตท.นำเข้าแล้ว 5.2 ล้านตัน และ กฟผ.ได้รับอนุมัตินำเข้าอีก 1.5 ล้านตัน ดังนั้น ที่เหลือของคลังมาบตาพุด 4.8 ล้านตัน จึงเป็นการเปิดเสรีนำเข้า ซึ่งผู้นำเข้าสามารถนำมาใช้ได้ทั้งภาคผลิตไฟฟ้า ภาคอุตสาหกรรมและอื่น ๆ
นายศิริ กล่าวว่า เพื่อตอบสนองนโยบายการแข่งขันเสรี ทางกระทรวงพลังงานจึงไม่อนุมัติให้ ปตท.ทำสัญญารับซื้อก๊าซแอลเอ็นจีจากแหล่งก๊าซโมซัมบิก 2.65 ล้านตัน/ปี ในลักษณะสัญญาระยะยาว 20 ปี ที่จะต้องผูกพันและนำเข้ามาอยู่ในระบบ POOL GAS เหมือนสัญญาระยะยาวที่ ปตท.ทำไว้แล้ว 5.2 ล้านตัน อย่างไรก็ตาม กระทรวงพลังงานสนับสนุน ปตท.ให้ทำสัญญาซื้อแหล่งโมซัมบิก เพื่อให้เป็น PORTFOLIO เช่นเดียวบริษัทน้ำมันแห่งชาติอื่น ๆ ส่วนก๊าซฯ ที่ซื้อ ปตท.ก็สามารถขายได้ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งก็จะสามารถนำเข้าผ่านคลังมาบตาพุดในส่วนที่เหลือได้ เป็นผู้ค้าและผู้นำเข้าแอลเอ็นจี เหมือนกับเอกชนอื่น ๆทั่วไป แม้ว่าราคาจากโมซัมบิกจะมีราคาประมาณกว่า 7 ดอลลาร์สหรัฐ/ล้านบีทียู แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นหลักประกันว่าราคาจะต่ำที่สุด
“แม้ประเทศไทยจะไม่ได้มีสัญญาระยะยาวสำหรับการนำเข้าแอลเอ็นจีในอนาคต แต่เชื่อมั่นว่าด้วยตลาดการค้าที่เปลี่ยนแปลงไป ตลาดแอลเอ็นจีมีมากขึ้นจะไม่กระทบต่อความมั่นคง และยังมีการประมูลแหล่งบงกช-เอราวัณที่เน้นความมั่นคงและราคาต่ำ จึงเชื่อว่าการเปิดเสรีเช่นนี้จะเป็นผลดีทั้งการสร้างความมั่นคงและต้นทุนค่าไฟฟ้าของชาวบ้าน” นายศิริ กล่าว
นายศิริ กล่าวว่า กรณีเอกชน เช่น กัลฟ์ ก็สามารถแข่งขันได้ในการนำเข้าแอลเอ็นจี ส่วนสัญญาผูกพันเดิมที่มีไว้กับ ปตท.และมีข่าวว่ากัลฟ์ขอยกเลิก ก็เป็นเรื่องที่เอกชนจะคุยกันในด้านสัญญา โดยทางภาครัฐจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว
นายศิริ กล่าวว่า ร่างแผนพีดีพีฉบับใหม่คาดว่าหลังจาก กพช.อนุมัติแล้วจะกำหนดเสร็จเดือนมิถุนายน โดยให้นโยบายไปแล้วว่าค่าไฟฟ้าจะไม่แพงขึ้น ขณะที่การประมูลแหล่งเอราวัณ-บงกช จะประกาศเชิญชวนผู้สมัครร่วมประมูลได้ทันทีวันที่ 24 เมษายน ซึ่งจะเป็นการตรวจคุณสมบัติเบื้องต้นจะออกประกาศเชิญชวนเข้าร่วมการประมูลและคัดเลือกผู้มีคุณสมบัติเบื้องต้น (Pre-Qualification :PQ) ในวันที่ 24 เมษายนนี้ ก่อนประกาศ TOR ต่อไป เพื่อให้ได้ผู้ชนะการประมูลตามเป้าหมายที่วางไว้ คือ ได้ผู้ชนะการประมูลในเดือนธันวาคมนี้ และลงนามสัญญากับผู้ชนะการประมูลในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งการประมูลรัฐบาลไม่ได้เน้นเรื่องกำไรของภาครัฐแต่จะเน้นเรื่องค่าไฟฟ้าราคาต่ำ
ดังนั้ การประมูลภาครัฐจึงให้น้ำหนัก 2 ส่วน คือ ข้อเสนอราคาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ ในสัดส่วน ร้อยละ 65 ที่ต้องแข่งขันบนพื้นฐานราคาก๊าซที่ต้องไปแพงไปกว่าสัญญาในปัจจุบัน และข้อเสนอการให้ผลตอบแทนแก่รัฐ ในสัดส่วนร้อยละ 25 โดยต้องกำหนดส่วนแบ่งกำไรแก่รัฐต้องไม่ต่ำร้อยละ 50 และ กำหนดเงื่อนไขทั้งส่งเสริมการใช้วัสดุหรือวัตถุดิบในประเทศและการรับพนักงานคนไทยเข้าดำเนินปฏิบัติงานไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 จะได้รับการพิจารณาป็นอันดับแรก นอกจากนี้ เพื่อความมั่นคงต่อเนื่องในการผลิต ได้กำหนดให้ผลิตจากแหล่งเอราวัณได้ทันที 800 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน และบงกช 700 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน . -สำนักข่าวไทย