กรุงเทพฯ 11 เม.ย. – การรถไฟแห่งประเทศไทย
เพิ่มมาตรการรักษาความความปลอดภัย
คุมเข้มบนขบวนรถและสถานีรถไฟให้ปลอดแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลสงกรานต์
นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเปิดโครงการรณรงค์ลดอุบัติเหตุทางถนน
สงกรานต์ปลอดภัยตายเป็นศูนย์ พร้อมด้วยนายทนงศักดิ์ พงษ์ประเสริฐ รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการเดินรถ
การรถไฟแห่งประเทศไทย นายแพทย์แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ เพื่อรณรงค์ให้คนไทยไม่ขับรถเมื่อเมาสุรา
นายอานนท์
เหลืองบริบูรณ์ รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ในส่วนของการรถไฟฯ
ได้ให้ความร่วมมือสนับสนุนนโยบายเมาไม่ขับ โดยมีการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในลมหายใจ
การตรวจหาสารเสพติดให้กับพนักงานขับรถ เจ้าหน้าที่ประจำขบวนรถ และประจำสถานี ก่อนปฏิบัติหน้าที่
พร้อมทั้งได้สั่งการให้เพิ่มความเข้มงวดเรื่องห้ามจำหน่ายและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
และสารเสพติด บนขบวนรถและบริเวณสถานีรถไฟ
โดยได้ประสานงานขอความร่วมมือไปยังบังคับการตำรวจรถไฟ
เพื่อเพิ่มความเข้มงวดการรักษาความปลอดภัย
นอกจากนี้ได้เตรียมแผนมาตรการด้านความปลอดภัยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ
การเดินขบวนรถ คือ 1. มาตรการด้านพนักงาน
กวดขันพนักงานด้านปฏิบัติการ (Operating) ของทุกฝ่าย เช่น
นายสถานี พนักงานรักษารถ พนักงานห้ามล้อ พนักงานกั้นถนน พนักงานขับรถ
พนักงานช่างเครื่อง ฯลฯ ให้ถือปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด
ระดมพนักงานด้านช่างเทคนิคต่าง ๆ ประจำอยู่ที่ศูนย์กลางกรุงเทพ
เพื่อประสานงานและติดตาม หรือสั่งการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในช่วงเทศกาลตลอด 24 ชั่วโมง และจัดตั้งศูนย์ปลอดภัยประจำการรถไฟฯ
และศูนย์ปลอดภัยตามภูมิภาครวม 5 เขต คือ เขต 1 ศูนย์ปลอดภัยประจำอยู่ที่สถานีกรุงเทพ เขต 2
ศูนย์ปลอดภัยประจำอยู่ที่สถานีนครราชสีมา เขต 3
ศูนย์ปลอดภัยประจำอยู่ที่สถานีอุตรดิตถ์ เขต 4
ศูนย์ปลอดภัยประจำอยู่ที่สถานีชุมพร เขต 5
ศูนย์ปลอดภัยประจำอยู่ที่สถานีชุดทางหาดใหญ่ ศูนย์ปลอดภัยทั้ง 5 เขต จะมีเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ในช่วงเทศกาลปีใหม่ ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อควบคุม ติดตาม
ประสานงานกับศูนย์ประสานการปฏิบัติการเตรียมความพร้อมด้านขนส่ง (จังหวัด)
ประสานกับศูนย์ปลอดภัยกระทรวงคมนาคม หรือประสานกับส่วนราชการต่าง ๆ
2. มาตรการด้านรถจักร/รถพ่วง
ตรวจสอบสภาพรถจักร รถพ่วง อุปกรณ์ล้อเลื่อนต่าง ๆ ให้มีความสมบูรณ์พร้อมใช้งาน
และหมั่นตรวจสอบความผิดปกติของอุปกรณ์ล้อเลื่อนต่าง ๆ ขณะทำขบวนระหว่างทาง
และก่อนนำออกใช้งาน หากสถานีใดกำหนดให้ขบวนรถหยุดมากกว่า 10
นาทีขึ้นไป พนักงานด้านเทคนิคต่าง ๆ เช่น พนักงานตรวจกล ช่างไฟฟ้า นายสถานี
พนักงานรักษารถ ต้องร่วมกันตรวจสอบความเรียบร้อย ความสมบูรณ์ของรถจักร รถพ่วง
อุปกรณ์ล้อเลื่อนต่าง ๆ อีกครั้งหนึ่ง
3. มาตรการจัดพนักงานตรวจสภาพทางอย่างน้อยวันละครั้ง
และเพิ่มความถี่ในการออกตรวจในช่วงเทศกาล
ขจัดทัศนวิสัยสองข้างทางรถไฟโดยเฉพาะบริเวณจุดตัดระหว่างทางรถไฟกับทางถนนเพื่อมิให้เป็นปัญหาอุปสรรคต่อการเดินรถ
พนักงานขบวนรถสามารถมองเห็นสภาพสองข้างทางได้อย่างสะดวก ชัดเจน
สามารถมองเห็นอาณัติสัญญาณต่าง ๆ หรือเห็นยวดยานพาหนะต่าง ๆ
ที่ขับผ่านถนนเสมอระดับทางรถไฟได้อย่างสะดวก ชัดเจน หรือในทางกลับกัน
ผู้ขับขี่ยวดยานพาหนะสามารถมองเห็นขบวนรถไฟ อาณัติสัญญาณได้อย่างสะดวก ชัดเจน
เช่นเดียวกัน
4. มาตรการด้านอาณัติสัญญาณ
ตรวจสอบอุปกรณ์เครื่องอาณัติสัญญาณโทรคมนาคม เช่น เสาอาณัติสัญญาณไฟสี
เครื่องทางสะดวก เครื่องกั้นถนน เครื่องโทรศัพท์ควบคุมการเดินรถ
ที่เกี่ยวข้องกับการเดินรถให้สามารถใช้งานได้ดีตลอดเวลา
โดยจัดเจ้าหน้าที่ออกตรวจวันละ 2 ครั้ง
นอกจากนี้ได้เพิ่มป้ายเตือนต่าง ๆ ในบริเวณทางผ่านที่มีเครื่องกั้นอัติโนมัติ
และเครื่องกั้นชนิดแผงกั้น โดยทำการปรับปรุง ทาสี ให้สามารถมองเห็นได้อย่างสะดวก
ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพิ่มไฟฟ้าแสดงสว่างให้เพียงพอมิให้เป็นปัญหาอุปสรรคต่อการเดินรถ
รวมทั้ง
รฟท.ได้ประสานขอความร่วมมือไปยังกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท องค์การบริหารส่วนตำบล
องค์การบริหารส่วนจังหวัด และสถานีตำรวจภูธร
ในเขตแต่ละพื้นที่ร่วมรณรงค์ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับป้ายเตือน/ป้ายอาณัติสัญญาณ/เครื่องอาณัติสัญญาณต่าง
ๆ เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุการเดินทาง
นอกจากนั้นได้ขอความร่วมมือมายังประชาชนที่เดินทาง
ขอให้ระมัดระวังเรื่องความปลอดภัยในการโดยสารรถไฟ ห้ามยืนระหว่างหัวต่อรถโดยสาร
และห้ามใช้บันไดเป็นที่โดยสาร ห้ามขึ้นรถในขณะที่รถกำลังเคลื่อนที่เพราะอาจพลัดตกเสียชีวิตได้
ระมัดระวังทรัพย์สินมีค่าของท่าน อย่าฝากสิ่งของที่มีค่าไว้กับบุคคลแปลกหน้า
ห้ามจำหน่าย และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสารเสพติด บนขบวนรถและสถานีรถไฟ
เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้บริการ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ศูนย์บริการลูกค้าสัมพันธ์ หมายเลขโทรศัพท์สายด่วน 1690 ตลอด 24ชั่วโมง . – สำนักข่าวไทย