กรุงเทพฯ 1 ต.ค. – นายสมพงษ์ เวียงแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวถึงปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประมาณ 1,800 ลูกบาศก์เมตร ว่า วันนี้พื้นที่กรุงเทพมหานครยังไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด ยกเว้นชุมชนที่อยู่นอกคันกั้นน้ำ แต่ก็ไม่ควรประมาท โดยเฉพาะเขตต่างๆ ที่อยู่แนวริมแม่น้ำเจ้าพระยา ยังคงต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะช่วงน้ำทะเลหนุนสูง
ส่วนกรณีที่กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่า จะมีฝนตกหนักในช่วงวันที่ 1-5 ตุลาคมนี้ ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กทม. ยอมรับว่า มีความกังวลเช่นกัน หากมีฝนตกหนักมากถึง 100 มิลลิเมตร โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มต่ำต่างๆ ประชาชนอาจได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมขังรอการระบาย แต่ทั้งนี้ทาง กทม.ได้เตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือประชาชนไว้แล้ว เช่น การเร่งลดระดับน้ำในคลองต่างๆ ให้อยู่ในแผนการควบคุม เช่น คลองประเวศ แสนแสบ ลาดพร้าว เปรมประชากร ภาษีเจริญ สนามไชย อีกทั้งยังเตรียมเครื่องสูบน้ำ กระสอบทราย และอุปกรณ์ต่างๆ ไว้เสริมกรณีเกิดเหตุจำเป็นในพื้นที่ต่างๆ ของ กทม.อีกด้วย
นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี ลงพื้นที่ตรวจสอบ บริเวณริมเขื่อนหอนาฬิกาท่าน้ำนนท์ โดยเทศบาลนครนนทบุรี ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ พร้อมนำกระสอบทรายมาวางเป็นแนวป้องกันน้ำ เพื่อเตรียมความพร้อมไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอยน้ำท่วมปี 2554 ซึ่งครั้งนั้น ที่บริเวณริมเขื่อนหอนาฬิกา ท่าน้ำนนท์ ถือเป็นจุดวิกฤติ เมื่อกระแสน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา เพิ่มสูงก็ไหลเข้าท่วมพื้นที่นนทบุรีได้อย่างรวดเร็ว หลังจากเหตุการณ์เมื่อปี 54 เทศบาลนครนนทบุรี ได้สร้างประตูระบายน้ำ ตรงปากคลองที่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาทุกแห่ง เสริมแนวป้องกันสูงเพิ่ม และติดตั้งเครื่องสูบน้ำพร้อมเดินเครื่องตลอดเวลา
อย่างไรก็ตาม จากการติดตามสถานการณ์น้ำที่ไหลผ่านสถานีบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อยู่ที่ 1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งแนวป้องกัน ของนนทบุรี รองรับได้ถึง 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ประชาชนไม่ต้องวิตกกังวล ส่วนที่อยู่นอกแนวป้องกันอาจ ได้รับผลกระทบบ้าง ต้องเตรียมพร้อมเก็บของขึ้นที่สูง. -สำนักข่าวไทย