ป.ป.ท.27 มี.ค.-ป.ป.ท.พบธุรกรรมการเงินปี 60 โกงกองทุนเสมาฯโอนเงิน 52 รายการ ยอดเงินรวมกว่า 13 ล้านบาท เร่งประสานศธ.ขอระเบียบอนุมัติทุนเพื่อไต่สวนความผิดอาญา
พล.ต.อ.จรัมพร สุระมณี กรรมการ ป.ป.ท. เปิดเผยความคืบหน้าการตรวจสอบคดีทุจริตกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต ที่มีนางรจนา สินที ข้าราชการซี 8 เป็นผู้ต้องหา ว่า ภายหลังจากที่เจ้าหน้าที่ป.ป.ท.นำกำลังเข้าตรวจค้นบ้านพักเมื่อวันที่ 23 มีนาคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ได้ยึดอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และเซิร์ฟเวอร์ ทั้งนี้ เซิร์ฟเวอร์ที่ยึดมาได้กำลังส่งให้ บก.ปอท.ตรวจสอบข้อมูลในเซิร์ฟเวอร์ เนื่องจากมีข้อสงสัยว่านางรจนาเป็นเพียงผู้ช่วยเลขาในที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาอนุมัติทุน แต่ทำไมมีอำนาจเบ็ดเสร็จในการเบิกจ่ายเงินคนเดียว ดังนั้น ในส่วนนี้นางรจนาจะมีความผิดทางแพ่งฐานละเมิดอีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีเอกสารที่น่าเชื่อว่าเกี่ยวข้องกับการทุจริตมาตรวจสอบ ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลการเบิกจ่ายเงินทุน พบว่าบางปีมีการทุจริตเงินทั้งก้อนโดยที่นักเรียนไม่เคยได้รับทุนเลย
พล.ต.อ.จรัมพร กล่าวอีกว่า ป.ป.ท.ตรวจสอบพบข้อบกพร่อง 3 ประเด็นที่ทำให้เกิดการทุจริต คือ 1.การไม่กำหนดตัวบุคคลที่จะรับทุน โดยพิจารณาอนุมัติทุนตามที่โรงเรียนร้องขอใน 4 กลุ่มโรงเรียน และไม่ระบุชื่อเจ้าของบัญชีและเลขที่บัญชีที่รับโอนเงินจากกองทุนเสมาฯ
2. หลังอนุมัติทุนการศึกษาไม่มีการติดตามผลว่านักเรียนได้รับทุนหรือไม่
3.กระทรวงศึกษาในฐานะผู้อนุมัติทุน หรือโรงเรียนผู้รับทุน มีส่วนรู้เห็นกับการทุจริตหรือไม่ เนื่องจากมีการทวงถามทุนการศึกษามายังกระทรวงฯ แต่กระทรวงฯปฏิเสธว่าไม่มีทุน ในประเด็นนี้จะต้องตรวจสอบว่าใครรับเรื่องและปฏิเสธการจ่ายทุนทั้งที่ทุนการศึกษาได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการแล้ว
พล.ต.อ.จรัมพร กล่าวอีกว่า เร็วๆ นี้ ป.ป.ท.จะทำหนังสือถึงปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ขอให้จัดส่งระเบียบการอนุมัติทุนทั้งหมด มาประกอบการไต่สวนความผิดทางอาญา และจากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าในปี 2551 นางรจนาได้เปิดบัญชีเพื่อรับโอนเงินจากกองทุนเสมาฯ รวม 22 บัญชี แต่ได้โอนเข้าบัญชีบุคคลอื่นรวม 31 บัญชี ซึ่ง 22 บัญชีที่เปิดไว้เพื่อรับทุนในปี 2560 ระหว่างที่กระทรวงศึกษาตรวจสอบ พบว่าต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เงินถูกถอนออกไปทั้งหมด พร้อมแจ้งปิดบัญชีทั้งหมดแล้วเช่นกัน
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับการตรวจสอบธุรกรรมการเงินของนางรจนา ระหว่างปี 2551-2561 พบว่า มีการโอนเงินจากกองทุนเสมาฯ เข้าบัญชีของสถานศึกษา จำนวน 173,009,510 บาท และโอนเงินเข้าบัญชีบุคคลอื่นๆ ซึ่งเป็นเครือญาตินางรจนา 22 บัญชี รวม 89,993,372 บาท โดยแต่ละคนจะเปิดบัญชีตั้งแต่ 1-7 บัญชี
ส่วนความเคลื่อนไหวทางการเงินในปี 2560 พบว่ามีนายวิโรจน์ (สงวนนามสกุล) เปิดบัญชีสูงสุด 7 บัญชี รับโอนเงินและพักเงินไว้ตั้งแต่หลักแสนบาท จนถึงหลักล้านบาท รวมทั้งหมด 7 ล้านบาท ขณะที่น.ส.สุพิชชา (สงวนนามสกุล) รับโอนเงิน 2 บัญชี จำนวนเงิน 1.8 ล้านบาท และนายฉลอง (สงวนนามสกุล) รับโอนเงิน 1 บัญชี รวม 1.5 ล้านบาท ส่วนรายอื่นๆ รับโอนเงินตั้งแต่ 55,000-800,000 บาท รวมมีบัญชีของบุคคล 10 รายที่รับเงิน 18 บัญชี ทำรายการโอนเงินทั้งหมด 52 รายการ จำนวนเงินที่โอนรวมทั้งหมด 12.8 ล้านบาท นอกจากนี้ กลุ่มผู้เกี่ยวข้องกับการทุจริต ยังได้ทำธุรกรรมการเงินโดยหลบเลี่ยงการรายงานธุรกรรมต้องสงสัยตามกฎหมายฟอกเงินให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ทราบอีกด้วย.-สำนักข่าวไทย