นครราชสีมา 22 มี.ค. – ทางหลวง ลั่น เตรียมฟ้องศาลปกครอง คุ้มครองสิทธ์ จัดเก็บค่าผ่านทาง วงแหวนด้านใต้เอง เหตุ การทางพิเศษคิดค่าบริหารจัดการแพงเว่อร์! อ้างเสียรายได้เข้ารัฐตั้งแต่ปี52 ปีละ 600 ล้านบาท รวมเบ็ดเสร็จกว่า 5.4 พันล้านบาท
นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการหาข้อสรุปการเข้าบริหารจัดการจัดเก็บค่าผ่าน ช่วงทางหลวงพิเศษถนนกาญจนาภิเษก ( ถนนวงแหวนรอบนอกด้านใต้)ช่วงพระราม 2 – สุขสวัสดิ์ – บางขุนเทียน ระหว่าง กรมทางหลวง กับ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ตั้งแต่ปี 52 ว่าหน่วยงานไหนจะเป็นผู้รับผิดชอบบริหารจัดการ จากเดิม กทพ . ได้สิทธิเข้ามาสร้างด่านจัดเก็บเงินค่าผ่านทางในพื้นที่ของ ทล. เนื่องจาก กทพ. ไม่มีพื้นที่ พร้อมกับขอเข้าบริหารจัดการและให้ ทล. จ่ายค่าดำเนินการการจัดเก็บค่าผ่านทางกับ กทพ.จำนวน 9 – 12 ล้านบาท/เดือน ซึ่ง ทล. มองว่าหากต้องจ่ายค่าดำเนินการมากขนาดนั้นทาง ทล. จะขอดำเนินการเอง เพราะจากการคำนวณต้นทุนการบริหารจัดการจะอยู่ที่ 6 ล้านบาท/เดือนเท่านั้น ดังนั้นหากในวันที่ 1 ก.ค.61 นี้ซึ่งเป็นวันแรกที่จะเก็บค่าผ่านทาง หากยังไม่ได้ข้อสรุป ทาง ทล . จะดำเนินการฟ้องศาลปกครอง เพื่อคุ้มครองสิทธิ์ เนื่องจากเป็นพื้นที่ของ ทล.
ทั้งนี้ทาง ทล. ยืนยันว่า ทางด่วนของ กทพ. จากบางนา-ตราด มาพระราม 2 ระยะทางรวม 22.5 กม.มาสิ้นสุดถึงแม่น้ำเจ้าพระยา และทางด่วนของ ทล. จะเริ่มตั้งแต่แม่น้ำเจ้าพระยา พระราม2 – สุขสวัสดิ์ – บางขุนเทียน ซึ่ง กทพ.ไม่มีพื้นที่สร้างด่านจัดเก็บค่าผ่านทาง ดังนั้นทาง ทล.จึงสร้างด่านเก็บค่าผ่านทางในราคา 15บาท/คันในพื้นที่ของ ทล. แต่ช่วงที่ผ่านมา ครม. เคยมีมติให้ กทพ . ซึ่งมีความชำนาญในการจัดเก็บค่าผ่านทางด่วนจึงให้เป็นผู้รับผิดชอบ อย่างไรก็ตาม กระทรวงคมนาคม โดย นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกรมทางหลวง , สำนักงบประมาณ , สภาพัฒน์ มาหารือร่วมกันให้ได้ข้อสรุปภายในสิ้นเดือน มี.ค.นี้ แต่หากไม่สามารถตกลงเรื่องค่าใช้จ่ายบริหารจัดการในพื้นที่ ของ ทล.ได้ ทาง ทล. ต้องมีความจำเป็นต้องเรียกร้องสิทธิ์ และขอเข้าบริหารจัดการเองและให้ กทพ. ออกจากพื้นที่ โดยที่ไม่ต้องจ้าง กทพ. บริหาร
นอกจากนั้นข้อพิพาทในการเป็นผู้จัดเก็บบริการจัดการค่าผ่านทางนั้นในเส้นทางดังกล่าว ก่อนหน้านี้ ครม. เคยมีมติมาตั้งแต่ปี 52 ให้ ทล. จัดเก็บค่าผ่านทาง แต่ ทล. ก็ไม่สามารถตกลงทำความเข้าใจกับ กทพ. ถึงดำเนินการจัดเก็บได้ ซึ่งในส่วนนี้ทำให้ ทล. สูญเสียรายได้ไปกว่า 600 ล้านบาท และถ้าหากคำนวณความสูญเสียรายได้จากปี 52 – ปัจจุบัน สูญเสียรายได้/กว่า 5,400 ล้านบาท
นายธานินทร์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของส่วนต่อขยายโครงการทางยกระดับโทลล์เวย์ จากรังสิต -บางปะอิน ว่า เรื่องนี้อยู่ระหว่างให้ที่ปรึกษาทางกฎหมายศึกษาข้อดีข้อเสีย หาก ทล. ดำเนินการเนื่องจากขณะนี้ติดปัญหาเรื่องข้อกฎหมายทางด่วนด้านเหนือ ที่ กทพ . ให้สัมปทานกับบริษัทเอกชนไปดำเนินการ ระบุชัดว่าห้ามมีโครงการทางด่วนมาสร้างแข่งขัน อย่างไรก็ตาม หากได้ข้อสรุปจะดำเนินการต่อทันทีเนื่องจาก แบบก่อสร้าง โทลล์เวย์ รังสิต- บางปะอิน เรียบร้อยแล้ว
ส่วนทางเชื่อมต่อทางด่วนจากทางด่วนขั้นที่ 2 ของ บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด ผู้รับสัมปทานของ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ไปเชื่อมกับทางด่วนโทลล์เวย์ ของบริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด จากบริเวณ กม.11 – วัดเสมียนนารีนั้น ในขณะนี้ทาง กทพ. อยู่ขั้นตอน พิจารณาว่าจะดำเนินการตาม พ.ร.บ. 35 คือ การเริ่มโครงการใหม่ หรือ เป็นการดำเนินการตาม พ.ร.บ. 43 ที่เป็นการดำเนินการส่วนต่อขยาย ซึ่งเมื่อได้ข้อสรุปทางกทพ.ก็จะเตรียมเสนอ ครม.ต่อไป แต่ในส่วนของ ทล. นั้น ทาง ทล. จะเรียก บริษัทโทลล์เวย์ มาเจรจาเรื่องการจ่ายผลประโยชน์ให้ ทล. เพิ่ม เนื่องจากหากมีการเชื่อมต่อระบบจากทางด่วนขั้นที่ 2 มายังโทลล์เวย์ จะทำให้ปริมาณการจราจรของผู้ใช้ทางเพิ่มมากขึ้น และขณะนี้สัญญาสัปทานทางด่วนโทลล์เวย์ ได้มีการขยายอายุสัญญาดอนเมืองโทลล์เวย์ จากเดิมที่หมดสัญญาในปี 57 – 58 และ ทล. ได้มีต่อขยายให้โทลล์เวล.- สำนักข่าวไทย