รัฐสภา 20 มี.ค.- “มีชัย” เชื่อ หากยื่นตีความกฎหมายลูก ส.ส. ภายหลัง ไม่กระทบเลือกตั้ง ส.ส. ขณะเดียวกัน มั่นใจ หากศาลรัฐธรรมนูญตีตกกฎหมายลูก ส.ว. ก็ไม่กระทบโรดแมป
นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ยืนยันว่า การยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่างบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญในขณะนี้ เป็นอำนาจของสภานิติบัญญัติ (สนช.) ซึ่ง กรธ. ไม่ได้บอกให้ สนช. ต้องยื่นตีความ เพียงแต่ส่งข้อห่วงใยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ในร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ดังนั้น หากในอนาคต เกิดปัญหาจากการไม่ยื่นตีความร่างกฎหมายใด ก็ต้องรับผิดชอบ เพราะเป็นอำนาจของสนช. และนายกรัฐมนตรี ดังนั้น กรธ.คงส่งข้อห่วงใยนี้ไปยังรัฐบาลอีก
อย่างไรก็ตาม นายมีชัย เห็นว่า ในส่วนของร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. หากมีการยื่นตีความหลังเลือกตั้ง เชื่อว่าไม่น่าจะส่งผลต่อการเลือกตั้งทั้งหมด เนื่องจากในกรณีที่ตัดสิทธิคนไม่ไปใช้สิทธิ ในการสมัครเป็นข้าราชการการเมือง กำนันผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารท้องถิ่น หากศาลชี้ว่าขัด ก็คืนสิทธิให้ไป และในเรื่องกลไกการช่วยเหลือผู้พิการลงคะแนน หากศาลชี้ ก็น่าจะมีเพียงบางหน่วยที่มีการช่วยคนพิการลงคะแนน ก็จะมีผลเฉพาะหน่วยนั้น ไม่น่าจะทำให้ผลการเลือกตั้งเปลี่ยนไป เว้นแต่มีผู้ไปลงคะแนนแทนคนพิการจำนวนมาก ซึ่งไม่น่าจะเกิดขึ้น
นายมีชัย ยังยืนยันว่า แม้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ก็ไม่กระทบกับโรดแมปการเลือกตั้ง เพราะหากศาลตีความว่า ประเด็นนั้นขัดรัฐธรรมนูญ และข้อความนั้นไม่ใช่สาระสำคัญ ก็จะตัดเฉพาะข้อความนั้นออก แต่กฎหมายทั้งฉบับ ก็ยังใช้ได้ โดยนายกรัฐมนตรีสามารถนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป และเมื่อใช้เป็นกฎหมาย แล้วไม่สอดคล้องในทางปฏิบัติ ก็สามารถปรับแก้ให้สอดคล้องกันได้
นายมีชัย กล่าวว่า หากศาลวินิจฉัยว่า เนื้อหาที่ส่งตีความขัดกับรัฐธรรมนูญ และเป็นสาระสำคัญ จะทำให้ร่างกฎหมายฉบับนั้นตกไปทั้งฉบับ ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ ก็จะต้องนำกลับมายกร่างใหม่ กรธ.ก็จะทราบว่า ประเด็นใดเป็นปัญหา จึงเชื่อว่าใช้เวลาไม่นานในการยกร่าง ทั้งนี้ การจะเป็นสาระสำคัญหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่า หากไม่มีส่วนนี้แล้ว กฎหมายนั้นจะยังสามารถบังคับใช้ได้หรือไม่ เช่น หากไม่มีบทเฉพาะกาล แล้วบทหลักยังใช้ได้ ก็จะยังสามารถประกาศใช้เป็นกฎหมายได้ต่อไป .- สำนักข่าวไทย