รัฐสภา 14 มี.ค.- กก.ปฏิรูปตำรวจฯ เผยโอนภารกิจที่ไม่ใช่ของตำรวจโดยตรงให้หน่วยราชการส่อแท้ง เหตุหน่วยงานราชการอ้างไม่พร้อมรับ ขาดผู้เชี่ยวชาญ และบางหน่วยงานของบถึง 4 พันล้านบาท โยนนายกรัฐมนตรีตัดสินใจ
นายมานิจ สุขสมจิตร รองโฆษกคณะกรรมการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) เปิดเผยว่า คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาแผนปฏิรูปตำรวจ และเห็นว่าควรถ่ายโอนภารกิจที่ไม่ใช่ของตำรวจโดยตรง ให้หน่วยราชการ 28 ภารกิจ เนื่องจากกำลังตำรวจขาดแคลนถึง 7,000 กว่าอัตรา เพื่อให้ตำรวจมาทำหน้าที่ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมโดยตรง แต่จากการเชิญผู้แทนหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีอำนาจในการตัดสินใจทั้ง 28 หน่วยงานมาให้ข้อมูล ต่างอ้างถึงอุปสรรคในการโอน โดยเฉพาะเรื่องการขาดกำลังคน ผู้เชี่ยวชาญ อาคารสถานที่ และต้องของบประมาณเพิ่มขึ้นจำนวนมาก โดยเฉพาะกรมทรัพย์สินทางปัญญา ระบุว่าต้องของบประมาณเพิ่มถึง 4,003 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นงบประมาณจำนวนมาก ทางคณะกรรมการฯ จึงส่งรายละเอียดเหล่านี้ให้นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลตัดสินใจ เพราะเรื่องการปฏิรูปตำรวจได้มีการกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญที่จะต้องดำเนินการให้ลุล่วง
“จะแปลความว่าหน่วยงานราชการเหล่านั้นไม่อยากรับโอนตำรวจก็ว่าได้ เพราะต้องยอมรับว่าต้องใช้เงิน และหากถ่ายโอนไป ก็เป็นเรื่องของหน่วยงานใหม่จะรับโอนคนเก่าหรือไม่ ซึ่งมีตัวอย่างมาแล้ว เช่นการดับเพลิงที่ กทม.รับโอนไป ซึ่งการถ่ายโอนครั้งนี้ต้องมีการแก้ไขกฎหมาย ที่กำหนดว่าให้รัฐมนตรีที่รักษาการตามกฎหมายทั้งหมด 28 ฉบับให้มีอำนาจในการตั้งพนักงานสอบสวนได้ เขาก็ไม่ได้พูดตรง ๆ ว่าไม่อยากรับโอน แต่บอกว่าถ้ารับโอนมาแล้วจะมีปัญหา” นายมานิจ กล่าว
นายมานิจ กล่าวว่า สำหรับการถ่ายโอนภารกิจที่ไม่ใช่ของตำรวจนั้น คณะกรรมการได้แบ่งภารกิจที่ต้องรับมอบออกเป็น 4 ส่วนคือต้องรับมอบภายใน 3 ปี อาทิ ภารกิจด้านการจราจร การป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรและสรรพสามิต การป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การคุ้มครองผู้บริโภค /ภารกิจที่ต้องดำเนินการภายใน 5 ปี การป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยขนส่ง ทางหลวง ภารกิจที่ต้องเตรียมความพร้อม เช่นภารกิจด้านการป้องกันและปราบปรามเกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์ ภารกิจด้านการท่องเที่ยวและภารกิจที่สมควรให้น่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติร่วมกับตำรวจ เช่นการปราบปรามการกระทำความผิดบนขบวนรถไฟ เป็นต้น.-สำนักข่าวไทย