ชลบุรี 13 มี.ค.-ชุดเฉพาะกิจ กรมประมง ลงพื้นที่ จ.ชลบุรี ติดตามการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย เพื่อพัฒนาแนวทางการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ ซึ่งพบว่าการตรวจสอบเรือที่มีหลายขั้นตอนยังไม่ครบถ้วนตามระเบียบที่กำหนด ติดปัญหาด้านบุคลากรมีน้อย แต่ถือเป็นความพยายามในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายที่มีความก้าวหน้าไปมาก
ชุดเฉพาะกิจ กรมประมง ลงพื้นที่ท่าเรือแสมสาร จ.ชลบุรี ทันทีที่ได้รับแจ้งว่ามีเรือประมงกำลังจะเข้าเทียบท่า เป็นปฏิบัติการสุ่มตรวจโดยไม่แจ้งล่วงหน้า ติดตามเรือประมงและประเมินการทำงานของเจ้าหน้าที่ หาข้อแนวทางพัฒนาขั้นตอนในการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายให้มีประสิทธิภาพ
เจ้าหน้าที่ตรวจสอบพิกัดเรือลำที่ต้องการตรวจสอบ ซึ่งสามารถเรียกข้อมูลเส้นทางเดินเรือย้อนได้ถึง 3 ปี เพื่อใช้ตรวจสอบว่ามีการทำประมงในเขตหวงห้ามหรือไม่ และตรวจวัดเครื่องมือทำประมง เช่น ขนาดของอวน ขนาดเรือ และตรวจชนิดของสัตว์นำที่จับมาได้ รวมทั้งการตรวจคนประจำเรือ
การสุ่มตรวจในครั้งนี้พบปัญหาการปฏิบัติตามระเบียบไม่ครบถ้วนในขั้นตอนการตรวจสอบเรือประมงก่อนออกจากท่า เช่น เรือลำนี้มีขนาด 90 ตันกรอส เตรีมออกทำประมง แต่พบว่าไม่มีคนประจำเรือที่ผ่านการอบรมการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ซึ่งระเบียบกำหนดให้เรือ 60 ตันกรอสขึ้นไป ต้องมีผู้ผ่านการอบรมประจำเรืออย่างน้อย 1 คน จึงไม่สามารถออกเรือทำประมงได้
จากการลงพื้นที่ของกรมประมงก่อนหน้านี้หลายจังหวัด เช่น ระนอง และสมุทรสาคร พบว่ากระบวนการแจ้งเรือเข้าออก และปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ยังติดปัญหาด้านการบริหารจัดการและกระบวนการตรวจสอบ มากกว่าปัญหาจากตัวเรือ เพราะมีหลายขั้นตอน จำนวนเจ้าหน้าที่มีไม่เพียงพอกับจำนวนเรือประมงพาณิชย์ที่มีกว่า10,000 ลำทั่วประเทศ
ข้อมูลหลังการบังคับใช้กฎหมาย ตั้งแต่ปี 58 เพื่อแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย มีการจับกุมดำเนินคดีแล้วกว่า 4,000 คดี และเกี่ยวกับคดีค้ามนุษย์กว่า 80 คดี มีความพยายามของภาครัฐ ทั้งการจัดการเรือและแรงงานให้เกิดการทำประมงอย่างยั่งยืน และเพื่อเป้าหมายไม่ให้มีการทำประมงผิดกฎหมาย ทั้งสัตว์น้ำที่นำเข้าและสัตว์น้ำที่ส่งออก.-สำนักข่าวไทย