ศธ. 9 มี.ค.-รมว.ศธ.นำแถลงชี้แจง ‘ทุจริตกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต’ พบการโอนเงินทุนการศึกษาเด็กยากไร้ เข้าบัญชีบุคคลอื่น ตั้งแต่ปี 51-61 กว่า 88 ล้าน เบื้องต้นพบเกี่ยวข้อง 5 รายเป็นข้าราชการระดับซี 8 รับสารภาพแล้ว 1 ราย โทษร้ายแรงถึงขั้นไล่ออกจากราชการ ขณะเดียวกันส่งข้อมูลให้ ‘ป.ป.ท.-ป.ป.ช.-ปปง.’ ตรวจสอบไปพร้อมกัน
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พร้อมด้วยนายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ แถลงข่าวกรณีกลุ่มตรวจสอบภายในสำนักงานปลัด ศธ.ทำการตรวจสอบบัญชีงบประมาณ ประจำปี 2560 ของสำนักงานปลัด ศธ. แล้วพบว่ามีการทุจริตเงินกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต โดยโอนเงินทุนการศึกษาของนักเรียนในโครงการเข้าบัญชีของบุคคลอื่นที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ตั้งแต่ปี 2551-2561 เป็นจำนวนเงินรวมกว่า 88 ล้านบาท ว่า กองทุนฯดังกล่าว ดำเนินการมาเป็นเวลา 15 ปีแล้ว มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดสรรเงินช่วยเหลือให้กับผู้ยากจนที่ต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิต อีกส่วนเป็นทุนสำหรับเด็กหญิงที่อยู่ในสภาวะยากลำบาก หรือเด็กตกเขียว ให้มีทุนการศึกษาในระดับวิชาชีพ และให้ทุนกับสถาบันการศึกษาที่สอนด้านครู และพยาบาล
นพ.ธีระเกียรติ กล่าวต่อไปว่า กองทุนดังกล่าวใช้งบประมาณเริ่มต้นจากสลากกินแบ่งรัฐบาล จำนวน 600 ล้านบาท โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กลุ่มตรวจสอบบัญชีฯ ได้ทำการตรวจ และได้พบปัญหาว่ามีการยักยอกโอนเงินเข้าบัญชีพรรคพวก ญาติพี่น้องตนเองรวมกว่า 88ล้านบาท เฉพาะปี 2560 เป็นเงินประมาณ 10 กว่าล้านบาท ซึ่งทันทีที่ทราบปัญหาดังกล่าว สั่งการให้นายการุณ แจ้งความดำเนินคดีทันทีในหลายกระทง รวมถึงส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ, สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เเละสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เพื่อตรวจสอบไปพร้อมกัน
อย่างไรก็ตามเรื่องนี้มีข้าราชการฝ่ายปฏิบัติ ที่เกี่ยวข้อง จำนวน 5 ราย ซึ่งเป็นข้าราชการระดับ 8 ที่ผู้รับผิดชอบหน้าที่มาโดยตลอด รับสารภาพว่า ทำจริงแล้ว 1 ราย ซึ่งต้องตรวจสอบข้อเท็จจริง เพราะจากการตั้งข้อสังเกตว่า เรื่องนี้ไม่น่าทำคนเดียว เบื้องต้นได้ย้ายข้าราชการทั้ง 5รายไปปฏิบัติหน้าที่ยังหน่วยงานอื่นแล้ว ส่วนผู้ที่รับสารภาพ 1 ราย ถือว่ามีโทษร้ายแรงถึงขั้นไล่ออกจากราชการ รวมถึงจะต้องถูกดำเนินคดีทางกฎหมายด้วย ขณะเดียวกัน หากมีการตรวจสอบแล้ว พบว่า มีการโอนเงินเข้าบัญชีบุคคลใดอย่างไม่ถูกต้อง เจ้าของบัญชีถือว่ามีความผิดด้วย
รมว.ศึกษาฯ กล่าวอีกว่า กรณีนี้เป็นการทุจริตที่เกิดขึ้นในระดับปฏิบัติการ มีการยักยอกเงินของคนที่ควรจะได้ไป ซึ่งทันทีที่ตรวจสอบพบไม่ได้รอช้า ดำเนินการตามกฎหมายอย่างรวดเร็ว ทำทุกอย่างเพื่อจะคืนความยุติธรรม ขั้นตอนการปฏิบัติงานที่ผ่านมาปลัดศธ.ที่ดำรงตำแหน่งในช่วงนั้น อนุมัติเงินเพื่อส่งให้เด็ก ซึ่งเท่าที่ทราบปลัดศธ.ในช่วงนั้นไม่ได้เกี่ยวข้อง อยู่ที่กระบวนการซึ่งฝ่ายปฏิบัติได้ไปโอนเงินแต่แทนที่จะโอนเงินเข้าบัญชีผู้รับทุน ก็โอนเงินให้กับพรรคพวกและญาติพี่น้องของตนเอง พอฝ่ายตรวจสอบบัญชีตรวจสอบพบ ก็ดำเนินการตรวจสอบย้อนหลังพบว่า มีการโอนเงินให้กับผู้รับทุนไปจำนวน77 ล้าน แต่ยักยอกเงินไปถึง 88ล้านบาท
ทั้งนี้ได้สั่งการให้ไปตรวจสอบเพิ่มเติมว่า บัญชีผู้รับทุนมีจำนวนเท่าไร และผู้รับทุนได้รับเงินที่ควรจะได้หรือไม่ หากไม่ได้รับจะให้ผู้รับทุนไปแจ้งความว่ามีการยักยอกเงินด้วย ขณะเดียวกันให้ตรวจสอบไปยังกองทุนฯอื่น ๆ ด้วยว่า มีการทุจริตเกิดขึ้นหรือไม่ และดูระบบการโอนเงินว่า มีการรั่วไหลได้ที่ช่องทางใดบ้าง ทุจริตตรงขั้นตอนใด ส่วนกรณีผู้รับทุนแต่ไม่ได้รับเงิน ต้องหาว่ามีช่องทางใดที่จะเยียวยาได้บ้าง
นอกจากนี้จากการตรวจสอบ ยังพบว่า ที่ผ่านมาเด็กที่ไม่ได้รับเงิน มีการสอบถามเข้ามาบ้าง โดยเจ้าหน้าที่ปฏิบัติใช้วิธีหมุนเงิน จึงทำให้เรื่องเงียบไปบ้าง ดังนั้นตอนนี้จึงยังไม่รู้ว่า เงินที่ยังไม่ได้โอนมีเท่าไร แต่ตนในฐานะ ที่ดูแลศธ. จะให้ความเป็นธรรม
ด้านนายการุณ กล่าวว่า จะมีการไปตรวจสอบบัญชีปลายทางของบุคคล ที่โอนไป 19-20 บัญชีบุคคล มีเด็กที่ได้เงินจากกองทุนไปแล้วกี่คน มีเด็กที่ไม่ได้เงินจากกองทุนกี่คน ใครบ้าง โดยสำรวจทั้ง 3 กลุ่มสถานศึกษา ได้แก่ กลุ่มโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ กลุ่มโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ และกลุ่มวิทยาลัยพยาบาล เมื่อได้ตัวเลขแล้วจะนำเข้าสู่คณะกรรมการกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต พิจารณาว่าจะมีช่องทางการเยียวยาอย่างไรบ้าง
นายการุณ กล่าวต่อว่า ขั้นตอนการจ่ายเงินกองทุนฯ นั้น ต้องมีการหารือที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนฯ ว่าจะอนุมัติทุนกี่ราย ใครบ้าง และเป็นมติของที่ประชุมเสนอผู้บริหารอนุมัติเห็นชอบ จากนั้นฝ่ายปฏิบัติ ได้แก่ กองคลัง สำนักอำนวยการ ของสป.ศธ. ก็จะดำเนินการเบิกจ่ายตามขั้นตอน
ซึ่งจากการตรวจสอบการโอนเงินของกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต ย้อนหลังตั้งแต่ปี 2551 ถึงเดือนมีนาคม 2561 พบว่ามีการอนุมัติเงิน 166,347,721 บาท เป็นการโอนเงินเข้าบัญชีหน่วยงาน 77,531,072 บาท และเป็นการโอนเงินเข้าบัญชีบุคคล 88,816,640 บาท เบื้องต้นพบเป็นบัญชีญาติของข้าราชการคนนั้น
สำหรับการโอนเงินแต่ละปีจำแนกดังนี้
ปี 2551 และ 2553 ระบบบัญชียืนยันว่าได้จ่ายแล้ว แต่ยังไม่รู้ชัดเจน อยู่ระหว่างการตรวจสอบ
ส่วนปี 2552 อนุมัติ 10,892,422บาท โอนบัญชีหน่วยงาน 8,571,276 บาท โอนบัญชีบุคคล 2,320,968 บาท
ปี 2553 อนุมัติ บาท โอนบัญชีหน่วยงาน บาท โอนบัญชีบุคคล บาท
ปี 2554 อนุมัติ 11,409,860 บาท โอนบัญชีหน่วยงาน 7,377,460 บาท โอนบัญชีบุคคล 4,032,400 บาท
ปี 2555 อนุมัติ 25,407,608 บาท โอนบัญชีหน่วยงาน 9,074,336 บาท โอนบัญชีบุคคล 16,332,272 บาท
ปี 2556 อนุมัติ 37,047,000 บาท โอนบัญชีหน่วยงาน11,806,000 บาท โอนบัญชีบุคคล 25,241,000 บาท
ปี 2557 อนุมัติ 10,997,000 บาท โอนบัญชีหน่วยงาน 8,754,000 บาท โอนบัญชีบุคคล 2,243,000 บาท
ปี 2558 อนุมัติ 35,227,000 บาท โอนบัญชีหน่วยงาน 16,954,000 บาท โอนบัญชีบุคคล 18,273,000 บาท
ปี 2559 อนุมัติ 18,717,000 บาท โอนบัญชีหน่วยงาน14,169,000 บาท โอนบัญชีบุคคล 4,548,000 บาท
ปี 2560 อนุมัติ 13,625,000บาท โอนบัญชีหน่วยงาน 825,000 บาท โอนบัญชีบุคคล 12,800,000 บาท
ปี 2561 ถึงเดือนมีนาคม อนุมัติ 3,025,000 บาท โอนเข้าบัญชีบุคคลทั้งหมด .-สำนักข่าวไทย