กระทรวงการต่างประเทศ 8 มี.ค.-โฆษกต่างประเทศ เผยคณะทำงานส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์ในกิจการประมงทะเลฯ ตั้งเครือข่ายแรงงานประมงทะเลจังหวัดนำร่อง 5 จังหวัด หวังให้แรงงานดูแลกันเอง ต่อรองนายจ้าง ลดข้อขัดแย้ง
น.ส.บุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย(ไอยูยู) ว่ารัฐบาลมีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์ในกิจการประมงทะเล เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อขับเคลื่อนระบบแรงงานสัมพันธ์ในกิจการประมงทะเลและส่งเสริมการรวมตัวและการเจรจาต่อรองของลูกจ้าง โดยมีกลุ่มเอ็นจีโอของไทยและต่างประเทศ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยและองค์การแรงงานระหว่างประเทศร่วมเป็นคณะทำงาน มีหน้าที่จัดทำมาตรการส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์ในกิจการประมงทะเล ที่สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ อาทิ การสร้างเครือข่ายแรงงานประมงทะเล การให้คำแนะนำเกี่ยวกับสิทธิของแรงงาน เพื่อส่งเสริมขีดความสามารถในการเจรจาต่อรอง และการจัดตั้งเวทีกลางสำหรับการเจรจาระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง เพื่อให้แรงงานภาคประมงทะเลสามารถปกป้องสิทธิของตนเอง
“เบื้องต้นคณะทำงานฯ มีข้อเสนอให้จัดตั้งเครือข่ายแรงงานประมงทะเลจังหวัดในพื้นที่ติดชายทะเล 22 จังหวัด อย่างน้อยจังหวัดละ 1 เครือข่าย ซึ่งเครือข่ายดังกล่าวจะเป็นองค์กรการรวมตัวของลูกจ้าง เลือกตั้งผู้แทนลูกจ้างจากเรือแต่ละลำที่เป็นสมาชิกเครือข่าย โดยมีสมาคมประมงแห่งประเทศไทย หน่วยงานภาครัฐและเอ็นจีโอเป็นที่ปรึกษา เพื่อให้แรงงานสามารถดูแลกันเองได้ เพิ่มน้ำหนักการเจรจาต่อรองกับนายจ้าง ส่งเสริมให้การหารือร่วมกันเพื่อลดข้อขัดแย้ง และให้ลูกจ้างสามารถเรียกร้องสิทธิประโยชน์ สวัสดิการหรือร้องทุกข์นอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนดได้ โดยจะนำร่องใน 5 จังหวัดชายทะเลก่อน ได้แก่ ชลบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม สมุทรปราการและตรัง” โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าว
น.ส.บุษฎี กล่าวว่า ขณะนี้ไทยอยู่ระหว่างการปรับปรุงพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์และพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เพื่อให้แรงงานต่างด้าวสามารถเป็นกรรมการสหภาพแรงงานได้ โดยจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน ถือเป็นการเตรียมการเข้าสู่กระบวนการรับรองอนุสัญญาแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 98 ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักการแห่งสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรองภายในเดือนกันยายน 2561.-สำนักข่าวไทย
