นครนายก 4 มี.ค. – พ.ต.อ.นิพนธ์ พานิชเจริญ รอง ผบก.ภ.จว.นครนายก พร้อมด้วย นายถิรเดช ปาละสุวรรณ นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ หัวหน้าชุดปฎิบัติการปราบปรามการกระทำความผิดด้านสัตว์ป่า (ชุดเหยี่ยวดง) ลงพื้นที่ตรวจสอบ ฟาร์มจระเข้บ้านเขาหัวนา ตั้งอยู่เลขที่ 53 หมู่ 9 ตำบลเขาเพิ่ม อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก เนื้อที่ 19 ไร่ ของนายสัญญา ธรรมศาสตร์สิทธิ์ เจ้าของฟาร์มแห่งนี้ และมีนายดาวเรือง กาสี เป็นผู้ดูแลฟาร์ม
จากการตรวจสอบพบกว่าฟาร์มแห่งนี้ ได้ขออนุญาตเพาะพันธุ์สัตว์ป่า สป5 และภายในฟาร์มมีบ่อจระเข้ขนาดใหญ่หลายบ่อ ซึ่งมีจระเข้อยู่ประมาณ 8,000 -10,000 ตัว และเสือโคร่งขนาดใหญ่โตเต็มวัยอยู่ 22 ตัว โดยเป็นตัวผู้ 4 ตัว และตัวเมีย 18 ตัว โดยแต่ละตัวถูกจับแยกอยู่ตัวละ 1 กรง ซึ่งเสือทั้งหมดได้ทำการขึ้นทะเบียนและฝังไมโครชิพ เจ้าหน้าที่จึงได้นำเอกสาร ประวัติและรูปพรรณสัณฐาน ลวดลายบนตัว ทำการตรวจสอบอีกครั้ง เพื่อความแน่นอนและถูกต้องให้ตรงกับเอกสารที่ได้ขึ้นทะเบียนเอาไว้ โดยจะมีการสุ่มตัวอย่างเสือ ทำการเก็บตัวอย่างเลือดไปทำการตรวจสอบอีกครั้ง
ซึ่งการเข้าทำการตรวจสอบอยู่ภายใต้การดูแลของทีมสัตวแพทย์ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 ปราจีนบุรี อย่างใกล้ชิดเนื่องจากด้วยสภาพอากาศที่ร้อน และจำนวนเจ้าหน้าที่ที่มาก ทำให้เสือเกิดความเครียด
ด้าน พ.ต.อ.นิพนธ์ กล่าวว่าในการตรวจสอบจะเน้นว่า เสือโคร่ง 22 ตัว และจระเข้ ที่เลี้ยงภายในฟาร์มได้ทำการอนุญาตตามระเบียบ การเลี้ยงสัตว์ป่าคุ้มครองอย่างเสือโคร่งอย่างถูกต้องหรือไม่ โดยดูลักษณะทางกายภาพและอายุ รวมทั้งเสือโคร่งที่ได้ตายไปแล้ว มีการทำลายโดยวิธีแบบไหน
นายถิรเดช ปาละสุวรรณ นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ หัวหน้าชุดปฎิบัติการปราบปรามการกระทำความผิดด้านสัตว์ป่า (ชุดเหยี่ยวดง) ได้รับคำสั่งจากอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ให้ดำเนินการตรวจสอบ การควบคุมและครอบครองสวนสัตว์สาธารณะและการครอบครองเสือโคร่งของประชาชนที่มีไว้ครอบครอง ว่ามีการเพิ่มลดเป็นไปตามระเบียบหรือไม่
รวมทั้งมีการตายและการทำลายซากอย่างไร ซึ่งหากมีชีวิตอยู่ต้องการทำเครื่องหมาย เก็บตัวอย่างเลือด รวมถึงมีการโยกย้ายสับเปลี่ยนไปไว้ที่ไหนอย่างไร โดยชุดเหยี่ยวดงจะเข้าทำการตรวจสอบทั้งประเทศ ที่ผ่านมาได้มีการดำเนินการเข้าตรวจสอบมาแล้ว 5 แห่ง ส่วนใหญ่จะมีเรื่องไม่ได้ทำเครื่องหมาย ซึ่งตอนนี้ได้เร่งรัดให้เจ้าหน้าที่ในท้องถิ่นไฟดำเนินการทำเครื่องหมายและเก็บตัวอย่างเลือดให้ครบถ้วน
สำหรับในฟาร์มแห่งนี้ ได้มีการยื่นขออนุญาตครอบครองเมื่อปี 2546 และได้มีการแจ้งเพิ่มลดจำนวนเนื่องจากการตายอย่างสม่ำเสมอ โดยมีกรมอุทยานแห่งชาติส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 ปราจีนบุรี ได้ดำเนินการเก็บตัวอย่างเลือดของเสือโครงที่เกิดและครอบครองทุกตัวพร้อมทั้งฝังไมโครชิพ ถ่ายภาพลวดลาย ซึ่งหากมีเสือโคร่งตัวอื่นมาปะปนก็จะสามารถตรวจสอบได้. -สำนักข่าวไทย