รัฐสภา 27 ก.พ.-กมธ.ร่วม 3 ฝ่ายพ.ร.ป.เลือกตั้งส.ส.ให้ตัดสิทธิ์คนนอนหลับทับสิทธิ์ ไม่ให้สมัครกำนัน-ผญบ. สส.-สว. ห้ามเป็นขรก.การเมือง แต่ยืนตามร่างสนช.ให้ช่วยคนพิการลงคะแนนได้ ห้ามจัดมหรสพระหว่างหาเสียง
นายสมชาย แสวงการ โฆษกกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) หรือกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมมีมติให้ตัดสิทธิ์ผู้ที่ไม่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ไม่สามารถลงสมัครกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ส.ส.และสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) รวมถึงห้ามดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยข้าราชการการเมือง และข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง ตามระเบียบข้าราชการรัฐสภา รวมถึงตัดสิทธิ์การลงสมัครผู้บริหารท้องถิ่น
“ส่วนประเด็นค่าใช้จ่ายของพรรคการเมือง เดิมที่กำหนดให้มีจำนวนเท่ากันทุกพรรคตามหลักเกณฑ์ที่กกต.กำหนด กรรมาธิการฯ เกรงว่าอาจเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างพรรคการเมืองใหญ่กับพรรคการเมืองเล็ก ที่ประชุมจึงเห็นว่าไม่ให้นำผู้สมัครของแต่ละพรรคที่มีจำนวนไม่เท่ากันมาคำนวณเป็นฐาน จึงมีมติให้ตัดคำว่า “เท่าเทียมกัน” ออก โดยจะใช้จำนวนผู้สมัครส.ส.ทั้งระบบแบ่งเขตและระบบปาร์ตี้ลิสต์เป็นฐานในการคำนวณ ส่วนสัดส่วนการคำนวณจะเป็นเท่าใดนั้น ให้กกต.กับพรรคการเมืองไปตกลงกัน” นายสมชาย กล่าว
สำหรับประเด็นการช่วยเหลือผู้พิการในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง นายสมชาย กล่าวว่า กรรมาธิการฯ เห็นควรให้ยืนตามร่างเดิมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ให้สามารถช่วยเหลือผู้พิการลงคะแนนได้ตามสมควร ส่วนประเด็นที่กกต.มีความเห็นแย้งให้มีบัตรเลือกตั้งใบเดียวและหมายเลขเดียวกันทั้งประเทศ กรรมาธิการฯ มีมติให้ยืนตามร่างเดิมของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่ให้แต่ละเขตมีหมายเลขแตกต่างกัน เพื่อให้ประชาชนจดจำผู้สมัครในเขตของตัวเองได้
นายสมชาย กล่าวถึงกรณีอำนาจศาลในการสั่งให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปอย่างสุจริตและเที่ยงธรรม ในกรณีที่ไม่ปรากฏชัดว่าเป็นการกระทำของผู้ใด ว่า ให้เป็นอำนาจศาลสั่งให้การเลือกตั้งนั้นเป็นโมฆะและให้มีการเลือกตั้งใหม่ได้ ขณะที่กรณีหากให้กกต.ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาในการสั่งเพิกถอนสิทธิ์รับสมัคร รวมถึงการเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งนั้น กรรมาธิการฯ ให้แก้ไขเพิ่มเติมคำว่าให้กกต. ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา เพื่อเพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งหรือเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งของผู้นั้น
“ที่ประชุมยังยืนยันมติกรรมาธิการฯ ที่ให้ยกเลิกการจัดมหรสพระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งส.ส. รวมถึงการปรับร่นเวลาลงคะแนนเลือกตั้ง จากเดิมสนช.กำหนด 07.00-17.00 น. เป็นตั้งแต่เวลา 8.00 – 17.00 น.” .-สำนักข่าวไทย
