ทำเนียบฯ 5 ต.ค.- โฆษกกระทรวงกลาโหม แถลง รายชื่อผู้ร่วมเดินทางกับคณะ “พล.อ.ประวิตร” ที่เผยแพร่ตามสื่อออนไลน์ ไม่รู้เป็นเอกสารจริงหรือไม่ ยันไม่มีผู้ประกาศข่าวสาว ททบ. 5 ร่วมคณะ ไม่ฟ้องคนแชร์ข้อมูล ชี้เป็นข้อดีที่ตรวจสอบข้อมูลข่าวสารร่วมกัน
พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม แถลงกรณีที่การเผยแพร่รายชื่อบุคคลที่ร่วมคณะกับพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่เดินทางไปประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน-รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ที่มลรัฐฮาวาย สหรัฐฯ ระหว่างวันที่ 29 ก.ย.ถึง 2 ต.ค. ที่ระบุมีผู้ประกาศข่าวสาว ททบ.5 ร่วมคณะ ว่า ตนไม่ทราบว่าเอกสารที่นำมาเผยแพร่ทางสื่อออนไลน์เป็นเอกสารที่ถูกต้องหรือไม่ เพราะยังไม่ได้เห็น แต่ที่ระบุมีผู้ร่วมคณะ 43 คนนั้น ไม่เป็นความจริง
โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า ในคณะ มีผู้โดยสาร 38 คน ขากลับมีนายทหารเพิ่มมาอีก 3 คน รวมเป็น 41 คน และไม่มีผู้ประกาศข่าวสาว ททบ.5 ร่วมคณะไปด้วย และคณะผู้เดินทางมีเพียง 2 คนที่เป็นพลเรือน ซึ่งไม่ใช่ผู้บริหารบริษัทซีพี แต่เป็นผู้ประสานงานความมั่นคงด้านเศรษฐกิจให้กับ พล.อ.ประวิตร ซึ่งทำงานร่วมกันตั้งแต่มีคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) แล้ว
พล.ต.คงชีพ กล่าวว่า การที่คณะมีมากถึง 38 คน นั้น เพราะต้องเตรียมข้อมูลต่าง ๆ เพื่อไปหารือกับทางสหรัฐอเมริกา ทั้งการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ การทำประมงผิดกฎหมาย การบินพลเรือน และสร้างความสัมพันธ์ต่าง ๆ เนื่องจากที่ผ่านมาไทยกับสหรัฐฯ มีข้อจำกัดทางกฎหมายและความสัมพันธ์ สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ดังนั้นต้องใช้ทุกเวทีให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติมากที่สุด ซึ่งทางสหรัฐฯ ก็ชื่นชมและยกประเทศไทยเป็นตัวอย่างให้ประเทศอื่นนำไปปฏิบัติตาม
โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้มองว่าเกลือเป็นหนอน แต่เป็นเรื่องดีที่มีการตรวจสอบข้อมูลข่าวสารร่วมกัน อยากให้ทุกคน รวมถึงสื่อมวลชน รับทราบว่า การเผยแพร่ข้อมูลใด ๆ ล้วนอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และกฎหมายหมิ่นประมาท หากพาดพิงหรือหมิ่นประมาทผู้อื่น รวมถึงองค์กรใด ๆ ก็อาจถูกดำเนินการตามกฎหมายได้
พล.ต.คงชีพ กล่าวว่า ในส่วนของกระทรวงกลาโหม มองว่าไม่กระทบต่อภาพลักษณ์เป็นเพียงความตื่นตัวในการตรวจสอบจึงไม่คิดฟ้องร้องเอาผิด แต่ฝากสื่อมวลชนและประชาชนให้กลั่นกรองข้อมูล ใช้เหตุผล อย่าใช้ความรู้สึกตัดสิน เพราะหากนำข้อมูลที่บิดเบือนมาเผยแพร่ต่อก็จะกระทบต่อความน่าเชื่อถือของคนหรือสื่อนั้น ๆ และไม่กังวลที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) จะเข้าตรวจสอบ เพราะเป็นอำนาจของ สตง.อยู่แล้ว กลาโหมพร้อมชี้แจง.-สำนักข่าวไทย