กรุงเทพฯ 26 ก.พ. – สำนักข่าวไทยได้นำเสนอคดีแท็กซี่ถูกเพื่อนร่วมอาชีพชนแล้วหนี ต่อมาพบว่าคู่กรณีเสียชีวิตแล้ว ขณะที่หนึ่งในผู้เสียหายถูกปฏิเสธรับแจ้งความจากตำรวจท้องที่ ซึ่งถือว่าเจ้าหน้าที่มีความผิดด้วย
อดุลย์ สิงห์ไธสง เจ้าของรถแท็กซี่ป้ายจริงใน อ.บางปู จ.สมุทรปราการ เป็นอีกหนึ่งคนที่ถูกตำรวจท้องที่ปฏิเสธรับแจ้งความ หลังรู้ตัวว่าถูกคนร้ายนำป้ายทะเบียนไปหากินและก่อคดีชนแล้วหนี แจ้งความตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่กรมการขนส่งทางบก แต่ถูกปฏิเสธ อ้างไม่ใช่พื้นที่เกิดเหตุ จึงต้องเดินทางไกลจากบางปูไปปากเกร็ด แจ้งความลงบันทึกประจำวัน และต้องเสียเวลาทั้งวันกับการแจ้งความคดีนี้ สูญเสียรายได้จากการขับรถไม่ต่ำกว่า 1,000 บาท และเสียความรู้สึก ไม่เข้าใจเหตุใดต้องมาไกลเพื่อแจ้งความดำเนินคดีกับคู่กรณี ทั้งที่พักอาศัยในพื้นที่บางปู และขนส่งฯ ระบุแจ้งความที่ไหนก็ได้ในประเทศไทย แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น
ตำรวจบางนายยอมรับว่า แต่ละปีมีมากกว่า 300 คดี ที่ประชาชนต้องเดินทางไกลจากต่างจังหวัด เพื่อเข้ามาแจ้งความที่ส่วนกลาง ทั้งที่คดีเหล่านั้นตำรวจท้องที่สามารถทำคดีได้เลย ส่วนปัญหาพนักงานสอบสวนปฏิเสธรับแจ้งความ ก็มีมานานแล้ว และเกิดขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะตำรวจสอบสวนกลาง ทั้งกองปราบปราม ปอศ. และ ปอท. เป็น 3 หน่วยงานหลักที่ถูกปัดคดีให้
ในแต่ละวันจะมีประชาชนเดินทางเข้ามาแจ้งความที่สอบสวนกลาง ส่วนใหญ่ระบุถูกท้องที่ปฏิเสธ ไม่มีอำนาจ ต้องหน่วยงานกลางเท่านั้น จึงเป็นปัญหาของตำรวจสอบสวนกลางที่ต้องรับแจ้งความไว้ บางคดีต้องหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาโทรหาพนักงานสอบสวนท้องที่นั้นๆ เพื่อให้รับแจ้งความ พร้อมชี้แจงและอธิบายเหตุผลกันยาวเหยียด
โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า ผบ.ตร.เคยมีคำสั่งให้ตำรวจทุกท้องที่รับแจ้งความทุกคดีที่อยู่ในอำนาจของตำรวจ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน หากคดีใดไม่เข้าใจให้ทำหนังสือประสานขอข้อมูล ข้อกฎหมาย รวมถึงตรวจสอบหลักฐาน จากหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญได้ เช่นเดียวกับคดีที่มีผู้เสียหายจำนวนมาก หรือคดีมีลักษณะเฉพาะ หรือคดีเหล่านั้นเป็นอำนาจของหน่วยงานอื่น ให้รับแจ้งความไว้ก่อน และประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่ามีคดีลักษณะนี้เกิดขึ้นในพื้นที่ เพื่อให้หน่วยงานนั้นเข้ามาทำคดีต่อไป
ตำรวจชั้นผู้ใหญ่ยังระบุอีกว่า พนักงานสอบสวนต้องพึงระวัง มาตรา 157 มีไว้สำหรับบังคับใช้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ หากประชาชนรู้ทัน อาจถูกดำเนินคดีเสียเอง ดังนั้น พนักงานสอบสวนควรศึกษามาตรา 157 ให้ดี เพราะอาจต้องโทษทางอาญา จากผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ เป็นผู้ต้องหาถูกดำเนินคดีฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่. – สำนักข่าวไทย