วอชิงตัน 10 เม.ย.- กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ (IMF) ออกบทความแนะนำวิธีการลดภาระหนี้สินในครัวเรือนของประเทศไทยว่าจะสามารถทำได้ด้วยการใช้วิธีการที่ผสมผสานกันระหว่างมาตรการลดภาระหนี้สินเดิมกับนโยบายป้องกันการก่อหนี้ใหม่ บทความลงวันที่ 9 เมษายน 2568 ระบุว่า ระดับหนี้ครัวเรือนที่สูงของประเทศไทยเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังการระบาดของโรคโควิด-19 เป็นไปได้ช้ากว่าประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค การกู้ยืมเพิ่มสูงขึ้นในช่วงวิกฤตด้านสุขภาพ เนื่องจากประชาชนประสบปัญหาในการตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐาน และภาระการชำระหนี้ที่ยังคงค้างอยู่ยังคงเป็นอุปสรรคต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภค แม้ว่าหนี้ครัวเรือนจะลดลงเล็กน้อยจากจุดสูงสุดในช่วงการระบาดใหญ่ แต่ก็ยังคงอยู่ในระดับที่สูงเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ 89 ของผลผลิตทางเศรษฐกิจ นอกจากจะส่งผลกระทบต่อการบริโภคแล้ว ยังส่งผลเสียต่อการลงทุนและเศรษฐกิจในวงกว้าง จึงอาจก่อให้เกิดความไม่มั่นคงทางการเงิน หากกลุ่มเปราะบางที่สุดและธุรกิจขนาดเล็กยังคงประสบปัญหาในการชำระหนี้ บทความได้ยกตัวอย่างบราซิลที่ช่วยเหลือลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระหนี้ในการเจรจาต่อรองเพื่อลดหนี้และชำระหนี้ ทำให้พวกเขาสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้อีกครั้ง มาเลเซียที่เข้มงวดกับการจัดการสินเชื่อส่วนบุคคลและหนี้บัตรเครดิตที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร เกาหลีใต้ที่เข้าซื้อบริษัทบัตรเครดิตที่กำลังล้มละลาย และจัดหาวิธีการต่าง ๆ ให้ลูกหนี้สามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินได้ ไอร์แลนด์และสหรัฐที่ใช้วิธีการประนอมหนี้ และเศรษฐกิจเกิดใหม่หลายแห่งที่บรรเทาและยกหนี้ช่วยลูกหนี้ที่เปราะบางที่สุด บทความกล่าวถึงรัฐบาลไทยว่า ได้ดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหานี้ เช่น การให้ความช่วยเหลือในการชำระหนี้ การปรับโครงสร้างหนี้ และการให้ความรู้ทางการเงิน อย่างไรก็ดี การจัดการกับหนี้ครัวเรือนเป็นสิ่งสำคัญ เช่นเดียวกับการดำเนินการในลักษณะที่ไม่ส่งผลเสียต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นว่า การดำเนินการที่รวดเร็วเกินไป โดยไม่คำนึงถึงความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจทั้งหมด อาจส่งผลเสียต่อภาคธนาคาร ลดการเข้าถึงสินเชื่อ และชะลอการใช้จ่ายของผู้บริโภคและการลงทุนของภาคธุรกิจ นโยบายควรมีความสมดุลกับการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระดับพื้นฐานมากขึ้น สุดท้ายบทความแนะนำว่า ประเทศไทยต้องจัดการกับสาเหตุหลักที่ทำให้หนี้สินยังคงอยู่ในระดับสูง […]