นนทบุรี 5 ต.ค.-ฝนที่ตกหนักในช่วงสัปดาห์นี้ ทำให้กรุงเทพฯ และปริมณฑลมีปัญหาน้ำท่วมขังระบายไม่ทันในจุดเดิมซ้ำซาก วันนี้ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวไทยไปที่ จ.นนทบุรี พบสิ่งปลูกสร้างเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่กลับไม่สอดคล้องกับการวางระบบท่อระบายน้ำใต้ดิน ทำให้ที่ผ่านมาหลายจุดน้ำไม่มีทางระบายลงสู่คลองตามธรรมชาติ
เครื่องสูบน้ำ 3 ตัว ที่ประตูระบายน้ำคลองบางพูด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี เดินเครื่องสูบน้ำเต็มกำลังตลอด 24 ชั่วโมง ระบายน้ำจากคลองบางพูดลงแม่น้ำเจ้าพระยา วันนี้เจ้าหน้าที่ต้องปิดประตูระบายน้ำไว้ เนื่องจากระดับน้ำเจ้าพระยาสูงกว่าน้ำในคลองบางพูดกว่า 1.30 เมตร คลองนี้เป็นคลองสายหลักที่รับน้ำจากทั้งเมืองทองธานีและแจ้งวัฒนะ เฉพาะที่เทศบาลนครปากเกร็ดมีคลองหลักระบายน้ำใช้จากบ้านเรือนและน้ำฝนลงสู่เจ้าพระยาเพียงสองคลอง คือ คลองบางพูด และคลองบางพัง
นายกเทศมนตรีนครปากเกร็ดให้ข้อมูลว่า ปัญหาน้ำท่วมขังซ้ำซากที่ถนนสายหลักในนนทบุรีและในเมืองทองธานี น้ำระบายลงคลองไม่ทันหลังฝนตกหนัก พบหลายจุดเป็นที่ลุ่มต่ำ มีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ สาเหตุหลักคือน้ำไม่มีทางไป หลังมีสิ่งปลูกสร้างขยายตัวรวดเร็ว รวมทั้งการก่อสร้างและขยายถนน ซึ่งส่วนมากไม่ได้วางแผนระบบท่อระบายน้ำใต้ดิน เช่น ที่ถนนแจ้งวัฒนะและติวานนท์ พบว่ามีท่อระบายน้ำใต้ดินไม่เชื่อมต่อกัน
ถนนติวานนท์ เส้นที่มุ่งหน้าไปปทุมธานี เจ้าหน้าที่เร่งก่อสร้างวางท่อระบายน้ำ หนึ่งในแผนแก้ปัญหาน้ำท่วมของที่นี่ เพราะที่ผ่านมานอกจากปัญหาสิ่งปลูกสร้างขวางทางน้ำแล้ว ถนนสายหลักๆ ในนนทบุรียังไม่มีการวางท่อระบายน้ำ ทำให้น้ำไม่สามารถไหลลงคลองตามธรรมชาติได้
นักวิชาการจากทีดีอาร์ไอ ที่ศึกษาเรื่องการบริหารจัดการน้ำกับการใช้ประโยชน์ที่ดิน มองว่าหลายจังหวัดที่มีปัญหาน้ำท่วมขังเป็นบางจุดขณะนี้ เกิดจากการมีสิ่งปลูกสร้างใหม่ๆ ที่ไม่ได้คำนึงถึงการไหลของน้ำ คูคลองที่เคยมีก็ถูกถมสร้างบ้านและคอนโดมิเนียม จุดพักน้ำที่เคยมีตามธรรมชาติก็หายไป
นี่คือแผนผังการใช้ประโยชน์ของที่ดินใน จ.นนทบุรี ที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างการแก้ไข ยังไม่มีฉบับใหม่ออกมาบังคับใช้ หลังหมดอายุไปตั้งแต่ปี 55 โดยในฉบับเดิม พื้นที่ที่มีชุมชนบ้านเรือนอยู่หนาแน่น คือ สีส้ม และสีแดง พบอยู่ในเทศบาลนครปากเกร็ด ปัญหาโครงสร้างของพื้นที่บริเวณนี้ คือ การขยายตัวของสิ่งปลูกสร้างเป็นอุปสรรคการไหลของน้ำตามธรรมชาติ และไม่มีการวางท่อให้สอดคล้องกัน
แม้ปัจจุบันทางการมีการก่อสร้างประตูระบายน้ำเพิ่มเติมรองรับปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้น เช่น ในพื้นที่ปากเกร็ดมีประตูระบายน้ำถึง 4 แห่ง และมีแผนขยายคลองเพิ่มอีก แต่ก็อาจจะยังไม่เพียงพอ เพราะอีกหนึ่งสาเหตุหลักของการระบายน้ำ คือ จำนวนขยะ ที่มีข้อมูลว่าเฉพาะที่ปากเกร็ด เจ้าหน้าที่สามารถเก็บขยะที่ลอยมากับน้ำได้ถึง 30-40 ตัน/วัน.-สำนักข่าวไทย