อสมท 8 ก.พ.-“เสือดำ” สัตว์ป่าคุ้มครองเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ที่กำลังถูกพูดถึงมากในขณะนี้ แท้จริงแล้ว คือเสือดาว ที่เกิดความผิดปกติทางพันธุกรรมทำให้มีขนเป็นสีดำและมีลายดอกจางๆ ปัจจุบันเหลือน้อยลง จากการถูกล่า และบุกรุกพื้นที่ป่า
ข้อมูลจากกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WWF ระบุว่า เสือดำ เป็นครอบครัวเดียวกับเสือดาว (Leopard) ที่เราคุ้นเคยกัน เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จัดอยู่ในวงศ์เสือและแมว (Felidae) เป็นเสือขนาดใหญ่รองจากเสือโคร่ง (Panthera tigris) เสือดาวบางตัวเกิดความผิดปกติทางพันธุกรรมทำให้มีขนเป็นสีดำและมีลายดอกจาง ๆ จึงเรียกว่า “เสือดำ” โดยลายดอกจางๆจะสังเกตเห็นชัดเจน เมื่ออยู่ในแสงแดด อาศัยอยู่ในป่าได้ทุกชนิด ทั้งป่าทึบ ป่าโปร่ง และป่าที่มีโขดหิน ทนอากาศร้อนได้ดีกว่าเสือโคร่ง ปัจจุบันพบในประเทศไทย ประมาณ 100-130 ตัว แต่อัตราส่วนการเกิดเสือดำนั้นมีไม่มากนัก
“ดำรงค์ พิเดช” อดีตอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวในรายการโทรทัศน์รายการหนึ่งว่า “เสือดาวออกลูกมา 3 ตัว จะเป็นเสือดำ1ตัว เสือดาว 2 ตัว ถ้าเสือดำผสมกัน จะออกลูกเป็นเสือดาว 2 ตัว เสือดำ 1 ตัว” จะเห็นได้ว่าโอกาสเกิดน้อยมาก ทั้งนี้ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ปัจจุบัน จัดให้เสือดาว/เสือดำ เป็นสัตว์คุ้มครอง รวมถึงบัญชีแดงสหภาพเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ที่จัดให้อยู่ในสถานะสัตว์ป่าที่มีความเสี่ยงขั้นอันตรายต่อการสูญพันธุ์ (Vulnerable) จากการถูกล่า และการบุกรุกพื้นที่ป่า
เสือดาว/เสือดำ ในเขตร้อนผสมพันธุ์กันได้ตลอดทั้งปี หลังจากผสมพันธุ์กันแล้วตัวผู้และตัวเมียอาจยังอยู่ด้วยกันอีกระยะหนึ่งก่อนจะจากกันไป ตัวเมียตั้งท้องนาน 90-105 วัน ออกลูกคราวละ 1-4 ตัว แม่เสือดาวจะเลือกถ้ำ ซอกหิน หรือโพรงไม้เป็นรัง ลูกเสือดาวแรกเกิดหนัก 400-700 กรัม เริ่มเดินเมื่ออายุครบ 2 สัปดาห์ หย่านมเมื่ออายุ 4 เดือน และเมื่อมีอายุ 12-18 เดือน จะเริ่มออกหากินเอง อาจอยู่ร่วมกับพี่น้องครอกเดียวกันเป็นเวลาหลายเดือนก่อนที่จะแยกย้ายไปหากินตามลำพัง
พบกระจายอยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 10 กลุ่มป่า ทั่วทุกภาคของประเทศไทย แบ่งเป็นพบในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 13 แห่ง และอุทยานแห่งชาติ 16 แห่ง โดยพื้นที่ที่พบการกระจายขนาดใหญ่อยู่ในกลุ่มป่าตะวันตกและกลุ่มป่าแก่งกระจาน นอกนั้นพบกระจายตามพื้นที่อนุรักษ์ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ในป่าขนาดเล็ก และพื้นที่ป่าไม่ได้มีความต่อเนื่องกัน
การล่าสัตว์เป็นกิจกรรมที่สร้างความสนุกสนาน เพลิดเพลิน ให้คนบางกลุ่ม แต่ผลกระทบที่ตามมาจากความสนุกเพียงครั้งคราวนั้น ไม่อาจประเมินเป็นมูลค่าได้ จากข้อมูลข้างต้นทำให้เห็นได้ชัดเจนว่า เสือดำ ที่ถูกล่านั้น มีจำนวนน้อยลงทุกวัน นอกจากโอกาสเกิดจะยากแล้ว มนุษย์ยังเป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้สัตว์ป่าเสี่ยงสูญพันธุ์ชนิดนี้ หายไปจากโลกของเรามากขึ้น.-สำนักข่าวไทย
ขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า Wildlife Conservation Bureau, Thailand