ทำเนียบฯ 8 ก.พ. – นายกรัฐมนตรีย้ำส่วนราชการจัดซื้อจัดจ้างโปร่งใส ขณะที่คลังเตรียมเสนอ ครม.แก้ไข พ.ร.บ.ร่วมทุน ดึงต่างชาติร่วมก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานมอบรางวัลองค์กรที่มีความเป็นเลิศในการบริหารจัดการด้านการเงินการคลังประจำปี 2560 นายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำว่า การจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2562 เริ่มให้ความสำคัญเรื่องการจัดทำงบประมาณรายภาคมากขึ้น เพื่อกระจายความช่วยเหลือด้านงบประมาณให้ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งแบบงบประมาณตามภารกิจหน้าที่กระทรวง (งบฟังชั่นก์) งบกลาง งบประมาณด้านระดับภาค เมื่อต้องร่วมกันปฏิรูปผ่านหลายหน่วยงาน จึงต้องการให้ส่วนราชการจัดทำ TOR การจัดซื้อจัดจ้างอย่างรัดกุม โปร่งใส สร้างแรงจูงใจ สิทธิประโยชน์เพื่อดึงดูดเอกชนมาเสนอราคา เพราะหากเอกชนไม่มาร่วมลงทุนกับโครงการของรัฐ เศรษฐกิจจะขับเคลื่อนต่อไม่ได้ เมื่อเดินทางไปต่างประเทศจะย้ำตลอดว่าไทยมีศักยภาพและเป็นศูนย์กลางของอาเซียน เพื่อชักชวนให้เข้ามาร่วมลงทุน
ส่วนกรณีมาตรการช่วยเหลือผู้ถือบัตรสวัสดิการเฟส 2 เพื่อเปิดให้ผู้มีรายได้น้อยสมัครอบรมฝึกอาชีพและรับเบี้ยเพิ่ม แต่มีผู้สนในเข้าร่วมโครงการน้อย ไม่ใช่ราย่อยเขาไม่สนใจอบรม แต่ยังไม่ทราบชัดเจนว่าต้องการพัฒนาอย่างไรบ้าง ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้หว่านเงินกับประชาชน แต่คัดเลือกเฉพาะกลุ่มสำหรับผู้สนใจฝึกอบรมพัฒนาอาชีพ จึงจ่ายเงินผ่านบัตรเพิ่มให้ 100-200 บาทต่อเดือน เมื่อเข้าโครงการแล้วกรมบัญชีกลางจะส่งเงินช่วยเหลือเพิ่มให้ผู้ถือบัตรทุกคน เพื่อสร้างแรงจูงใจในการฝึออาชีพ
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังเตรียมเสนอ ครม.เร็ว ๆ นี้พิจารณาแก้ไขร่างพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ หรือ (“พ.ร.บ.ร่วมทุน”) เพื่อเปิดทางให้เอกชนต่างชาติเข้ามายื่นเสนอก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่อีกหลายโครงการของรัฐเพิ่ม เนื่องจากรัฐบาลมีโครงการลงทุนอีกหลายโครงการและปีนี้เป็นปีแห่งการเริ่มลงทุนโครงการของรัฐจำนวนมาก เพราะที่ผ่านมามีเอกชนต่างชาติเข้ามาเสนอโครงการน้อยมาก จึงได้ปรับเครื่องการแชร์ความเสี่ยง ( Rise shairing ) จะรับความเสี่ยงมากน้อยขนาดไหนแล้วแต่ละโครงการ เพราะที่ผ่านมาเอกชนรับความเสี่ยงจากโครงการเพียงฝ่ายเดียว เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อการลงทุน และดึงดูดให้ต่างชาติเข้ามาเสนอร่วมลงทุนมากขึ้น
รวมทั้งการนำระบบ PPP Fast track ที่ใช้ในการพิจารณาโครงการลงทุนปัจจุบันเข้าบรรจุในร่างกฎหมาย พ.ร.บ.ร่วมทุน เพื่อให้ขั้นตอนในการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการคืบหน้าไปได้อย่างรวดเร็ว เพียง 9 เดือน จากเดิมเพียงแค่การศึกษาใช้เวลานานนับ 2 ปี คาดว่าร่าง พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ จะผ่านความเห็นของสภา นิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ตามเป้าหมาย เพื่อให้การลงทุนโครงการขนาดใหญ่เกิดขึ้นปีนี้ เมื่อระบบ PPP Fast track บรรจุไว้ในกฎหมายจะทำให้โครงการอื่นต้องนำไปปรับใช้ด้วยเช่นกัน. – สำนักข่าวไทย