กรุงเทพฯ 2 ก.พ. – ปตท.-กฟผ.ลงนามข้อตกลงร่วม (เอ็มโอยู) เดินหน้าพัฒนาพลังงานร่วมกัน ร่วมเสริมศักยภาพและสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้ประเทศอย่างยั่งยืน รวมทั้งร่วมลงทุนในต่างประเทศ เช่น เอฟเอสอาร์ยูในเมียนมาร์
วันนี้ (2 ก.พ.) นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานใน “พิธีลงนามบันทึกความร่วมมือด้านพลังงาน” ระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ บมจ.ปตท. โดยมีนายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการ กฟผ. และนายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.ร่วมลงนามฯ โดยหลังพิธีทางผู้บริหาร กฟผ.ซึ่งใช้เนคไทสีเหลืองและผู้บริหาร ปตท.ซึ่งใช้เนคไทสีฟ้าได้มีการแลกเปลี่ยนเนคไทระหว่างกันด้วย
นายศิริ กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือด้านพลังงานครั้งนี้ นับเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญของ 2 รัฐวิสาหกิจไทยภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพลังงานที่มีพันธกิจหลักในการดูแลความมั่นคงทางพลังงานให้แก่ประเทศ ซึ่งปัจจุบันทั้ง 2 หน่วยงาน ได้ทำหน้าที่ตามพันธกิจของตนอย่างดีอยู่แล้ว จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ประเทศไทยไม่เคยเกิดภาวะวิกฤติทางพลังงานที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ และมีพลังงานทั้งในส่วนของ fossil fuel และไฟฟ้าให้ใช้อย่างต่อเนื่อง และมีต้นทุนในระดับที่ไม่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิด Team Thailand for Energy Business ที่จะช่วยดูแลความมั่นคงทางพลังงาน ตลอดจนร่วมกันพัฒนาธุรกิจพลังงาน และนวัตกรรมทางด้านพลังงาน เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศและพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดียิ่งขึ้นไป โดยกระทรวงพลังงานมุ่งหวังทั้ง 2 องค์กรเป็นผู้นำในการพัฒนาธุรกิจพลังงานในต่างประเทศ เพื่อส่งกลับมาเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้แก่ประเทศไทย รวมถึงจะเป็นการช่วยพัฒนาประเทศในภูมิภาคอาเซียนได้อีกทางหนึ่งด้วย
นายกรศิษฏ์ กล่าวว่า กระแสการพัฒนาของ Disruptive Technology ในปัจจุบัน ส่งผลต่อโลกธุรกิจอย่างยิ่ง ปตท. และ กฟผ.ในฐานะรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานของประเทศจึงต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง รองรับการเติบโตของเทคโนโลยีดังกล่าว เพื่อให้ทันกับทิศทางการพัฒนาในระดับสากล ความร่วมมือครั้งนี้ จึงเป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันเพื่อเสริมสร้างศักยภาพและพัฒนานวัตกรรมในธุรกิจพลังงาน รวมถึงธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ตลอดจนเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้และการแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ร่วมกัน
“ความร่วมมือจะมีทั้งนวัตกรรมการ ความร่วมมือด้านความมั่นคง และความร่วมมือลงทุนในต่างประเทศ เช่น เมียนมาร์ ที่ ปตท.มีแผนสร้างคลังนำเข้าแอลเอ็นจีในรูปแบบเอฟเอสอาร์ยู ก็อาจจะมีการศึกษาร่วมกันในการสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อบริการประชาชนและผู้ประกอบการในเมียนมา รวมทั้งร่วมมือในโครงการนำเข้าแอลเอ็นจีที่ กฟผ.-ปตท.จะเป็นผู้นำเข้าหลักของประเทศ” นายกรศิษฏ์ กล่าว
นายเทวินทร์ กล่าวว่า ความร่วมมือกันครั้งนี้ เพื่อร่วมกันศึกษาวางกรอบความร่วมมือในการประกอบธุรกิจพลังงาน ด้วยองค์ความรู้ในธุรกิจที่แต่ละหน่วยงานมีความเชี่ยวชาญ ซึ่งจะเสริมสร้างให้เกิดการนำไปประยุกต์ และต่อยอดให้เกิดการสร้างนวัตกรรมและธุรกิจใหม่ ๆ ให้แก่ประเทศได้ในอนาคตสอดรับกับนโยบาย “Thailand 4.0” ที่มุ่งปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจสู่ Value Based Economy หรือเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม
ทั้งนี้ นโยบายและยุทธศาสตร์ของกระทรวงพลังงานปี 2561 – 2565 มุ่งเน้นให้ประเทศมีความมั่นคงทางพลังงาน พร้อมด้วยศักยภาพที่แข่งขันได้ในเวทีโลก สำหรับความร่วมมือทางด้านพลังงานของ กฟผ. และ ปตท. ตามข้อตกลงนี้มีระยะเวลา 2 ปี โดยบูรณาการความรู้ ความสามารถ และความเชี่ยวชาญของบุคลากรจากทั้ง 2 องค์กรมาใช้ในการพัฒนาพนักงาน และจัดตั้งโครงการนำร่อง (Pilot project) เพื่อนำไปสู่ความร่วมมือทางด้านพลังงานในอนาคต. – สำนักข่าวไทย