กรุงเทพฯ -31 ม.ค.- ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมปี โตร้อยละ 1.58 จากเป้าหมายร้อยละ 1.50 ส่วนปี 2561 ตั้งเป้าหมายที่จะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.5 – 2.5
นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) เปิดเผยว่า ผลจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรอบใหม่ที่จะเริ่มต้นในเดือนเมษายนที่จะถึงนี้ สศอ.พิจารณาภาพรวมอุตสาหกรรมไทยแล้ว พบว่า ส่วนใหญ่จ้างงานสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำอยู่แล้วเพราะเป็นแรงงานที่มีทักษะสูง การปรับขึ้นค่าแรงจึงไม่กระทบภาคอุตสาหกรรมมากนักแต่จะส่งผลกระทบภาคบริการหรืออุตสาหกรรมก่อสร้างที่ใช้แรงงานจำนวนมากซึ่งอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นในประเทศไทย ส่วนใหญ่ย้ายฐานการผลิตออกไปแล้วในช่วงการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาทที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ โดยมีการย้ายฐานออกไปยังกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน CLMV
ปีที่ผ่านมา สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ (สสท.) ระบุว่า มีการตั้งโรงงานเครื่องนุ่งห่มเพิ่ม 4 โรงงาน เพื่อผลิตชุดกีฬา และชุดชั้นใน ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้ามูลค่าเพิ่มสูง การจ้างแรงงานเป็นกลุ่มแรงงานฝีมือมีทักษะสูง ไม่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ
สำหรับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม(MPI) ประจำเดือนธันวาคม 2560 ขยายตัวร้อยละ 2.35 ภาพรวมทั้งปีขยายตัวจากปีก่อนร้อยละ 1.58 จากเป้าหมายปี 2560 ทั้งปีที่คาดว่า จะขยายตัวร้อยละ 1.50 โดยอุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลบวกได้แก่ ผลิตภัณ์ยาง รถยนต์ เครื่องยนต์สำหรับรถยนต์ น้ำมันพืช น้ำมันปิโตรเลียม ขณะที่จีดีพีภาคอุตสาหกรรมปี 2560 โตร้อยละ 2 สูงกว่าเป้าหมาย
ส่วน MPI ในปี 2561 สศอ.ตั้งเป้าหมายที่จะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.5 – 2.5 ซึ่งสอดคล้องกับที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่ได้คาดการณ์เศรษฐกิจไทย ปี 2561 จะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.4 – 4.6 เพราะได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและการส่งออกที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
ส่วนแนวโน้มภาวะอุตสาหกรรม สาขาสำคัญ ไตรมาสแรกปี 2561 ได้แก่ อุสาหกรรมอาหารปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ 4.7 เนื่องจากความต้องการสินค้าไก่แปรรูป และไก่สดแช่เย็น แช่แข็งเพิ่มขึ้นทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง อุตสาหกรรมยานยนต์ คาดว่า ไตรมาสแรกปีนี้ จะมีการผลิตรถยนต์ประมาณ 500,000 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ 2.97 อุตสาหกรรมไฟฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่า จะผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.76 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยสินค้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เครื่องซักผ้าและสายไฟฟ้า จากการจำหน่ายในประเทศและการส่งออกเพิ่มขึ้น สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์คาดว่า จะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.19 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากความต้องการส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์และ IC ที่คาดว่า จะเพิ่มขึ้น ตามการขยายตัวของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โลก
ขณะที่อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า จะกลับมาฟื้นตัวในไตรมาสแรกปีนี้ จะขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.21 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพราะการใช้เหล็กทรงยาวที่ใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้างจะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม คาดว่า ผลิตภัณฑ์เส้นใยสิ่งทอจะขยายตัวร้อยละ 0.87 ผ้าผืนขยายตัวร้อยละ 5.12 และเสื้อผ้าสำเร็จรูปขยายตัวร้อยละ 6.28 ตามทิศทางการส่งออกที่มีแนวโน้มขยายตัวตามภาวะเศรษฐกิจของคู่ค้าเช่น จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม โดยเฉพาะการนส่งออกเส้นใยและผ้าผืนไปยังตลาด CLMV -สำนักข่าวไทย