กรุงเทพฯ 27 ม.ค. – รองนายกรัฐมนตรีดึงมหาวิทยาลัยปั้นแรงงานคุณภาพ รองรับไทยแลนด์ 4.0 ย้ำคนรุ่นใหม่ต้องใฝ่เรียนเศรษฐกิจยุคดิจิทัล มหาวิทยาลัยหากไม่ปรับตัวอาจทรุด นักศึกษาหากเรียนสาขายอดนิยมเดิมโอกาสตกงานสูง
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ร่วมประชุมกับที่ประชุมอธิบการบดีมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย เพื่อส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยทุกแห่งปรับหลักสูตรการเรียนการสอนให้ความรู้นักเรียน นักศึกษา มุ่งเรียนสาขาตรงกับความต้องการของตลาดใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐ เช่น ไบโอชีวภาพ อุตสาหกรรมอวกาศ การบิน ระบบราง รถไฟฟ้า อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมอาหาร เนื่องจากภาคเอกชนที่มาลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ต้องการแรงงานคุณภาพจำนวนมาก ตรงข้ามกับความนิยมของนักเรียนสนใจสอบเข้ามหาวิทยาลัยด้านนิเทศ หรือสาขาทางสังคมติดอันดับสูงมาก แต่ตลาดแรงงานมีน้อยมากเรียนจบอาจประสบปัญหาตกงาน รัฐบาลพร้อมสนับสนุนงบประมาณปี 2562 ให้กับสถาบันการศึกษาพัฒนาหลักสูตรป้อนแรงงานอาชีวะ เทคโนโลยี สู่ตลาดแรงงาน
นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวในที่ประชุมว่า เมื่อรัฐบาลมีเป้าหมายชัดเจนในการพัฒนาบุคลากรด้านการศึกษา สถาบันการศึกษาทุกแห่งควรปรับทิศทางการผลิตบุคลากรลดบทบาทสาขาที่ตลาดต้องการน้อย เพราะความต้องการด้านนวัตกรรม อุตสหกรรมเป้าหมายจะเพิ่มเป็นทวีคูณแบบก้าวกระโดด มหาวิทยาลัยจึงต้องเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอน นำอาชีวะมาปรับพื้นฐาน 1-2 ปี จากนั้นออกใบรับรองเพิ่มหรือเพิ่มความรู้พื้นฐานทางวิศวกรรมบางส่วน เพราะ วิศวกรรมระบบราง รถไฟฟ้า ช่างอากาศยานต้องการช่างจำนวนมาก แต่ขณะนี้ไม่มีบุคลากรรองรับ
ทั้งนี้ ยอมรับว่าขณะนี้มีมหาวิทยาลัยเอกชนหลายแห่งเริ่มปรับตัวจัดทำหลักสูตรรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย แต่ยังไม่เพียงพอ รัฐบาลพร้อมสนับสนุนจัดทำหลักสูตรแนวทางการพัฒนาแรงงานคุณภาพตอบโจทย์นโยบายของประเทศ เมื่อประเทศกำลังเติบโตไปด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล สัดส่วนสายสังคมต้องปรับลดลงจากร้อยละ 60-70 ในปัจจุบัน หากยังเปิดสอนเหมือนเดิม บัณฑิตส่วนใหญ่จะตกงาน จากนี้ไปการเรียนการสอนจะส่งเสริมให้นักเรียนออกไปเรียนนอกห้องเรียนและออกไปทำงาน เพื่อเรียนรู้และเพิ่มประสบการณ์เหมือนกับต่างประเทศ ไทยมีมหวิทยาลัย 55 แห่งทั่วประเทศ หากไม่ปรับตัวคงมีหลายแห่งต้องปิดตัว
นายสมคิด กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อเศรษฐกิจยุคใหม่ก้าวไปด้วยสังคมดิจิทัล จึงต้องขยับทั้งการแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกันและเดินหน้าพัฒนาหลักสูตร บุคลากร และนำบทวิจัยของนักวิชาการออกไปใช้ประโยชย์ได้จริง ในช่วงนี้อยู่ระหว่างการจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2562 จึงต้องการให้เสนอโครงการสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ขณะที่ภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศพร้อมให้ความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาเพื่อพัฒนาแรงานคุณภาพ. – สำนักข่าวไทย