กรุงเทพฯ 26 ม.ค.-ร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.เป็นกฎหมายลูกฉบับสุดท้ายที่ สนช.ได้พิจารณาในวันนี้ โดยประเด็นใหญ่ที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง คือ เรื่องการแบ่งกลุ่มอาชีพของ ส.ว. รวมถึงวิธีการเลือก ส.ว. ต้องสั่งพักการประชุมไปถึง 2 ครั้ง เพื่อให้ไปหาข้อสรุปนอกรอบก่อนกลับมาพิจารณาในที่ประชุม
ในการร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา มี 92 มาตรา ซึ่งกรรมาธิการฯ แก้ไขไป 19 มาตรา เพิ่มเติม 2 มาตรา และตัดออก 2 มาตรา ใช้เวลาร่วม 4 ชั่วโมง ถกเถียงในมาตรา 11 เรื่องที่มาของ ส.ว.จากกลุ่มอาชีพต่างๆ ซึ่งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญร่างไว้ 20 กลุ่มอาชีพ แต่กรรมาธิการปรับลดลงเหลือ 15 กลุ่มอาชีพ และมีสมาชิกเสนอให้ลดลงเหลือ 10 กลุ่ม แม้กรรมาธิการฯ ยอมถอย แต่ กรธ.และสมาชิกบางส่วนยังคงต้องการยืนตามร่างเดิม คือ 20 กลุ่มเพื่อความหลากหลายและป้องกันการบล็อกโหวต ทำให้ไม่ได้ข้อยุติ แม้จะพักการประชุมไป 20 นาที แต่ก็ยังไร้ข้อสรุป ประธานจึงให้ลงมติในมาตรานี้ก่อน ปรากฏว่าที่ประชุมเห็นชอบให้มีที่มา ส.ว.จาก 10 กลุ่มอาชีพ โดยมาปรับกลุ่มใหม่ รวมกลุ่มที่ใกล้เคียงกัน และตัดกลุ่มการเมืองทิ้ง
อีกประเด็นที่ สนช.ใช้เวลาอภิปรายค่อนข้างมาก คือ เรื่องช่องทางสมัคร ส.ว.ซึ่งตามร่างเดิมให้สมัครอิสระเท่านั้น แต่สมาชิกเสนอให้เพิ่มช่องทาง ให้องค์กรส่งผู้สมัครได้ด้วย เมื่อถกเถียงอย่างกว้างขวาง และพักการประชุมครั้งที่ 2 เป็นเวลา 30 นาที เพื่อไปหารือนอกรอบ สุดท้ายกรรมาธิการยอมปรับแก้ไข ให้สามารถสมัครได้ 2 ทาง คือ สมัครอิสระและองค์กรลงมติส่งลงสมัคร แต่ก็มีสมาชิกบางส่วนไม่เห็นด้วย เพราะกังวลว่าจะมีการตั้งองค์กรขึ้นมาเฉพาะเพื่อส่งผู้สมัคร ส.ว.
ขณะที่ กรธ.กังวลว่าเมื่อรัฐธรรมนูญไม่ได้รองรับช่องทางนี้ ก็อาจมีปัญหาในเรื่องของการตีความได้ เพราะมาตรานี้เชื่อมโยงกับมาตรา 40-41 ที่เป็นเรื่อง วิธีการเลือก ส.ว. ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญ เกี่ยวกับวิธีเลือก ส.ว. โดยเบื้องต้นกรรมาธิการเปลี่ยนให้ใช้วิธีเลือกกันเอง แทนการเลือกไขว้ที่ กรธ.ยกร่างมา
อย่างไรก็ตาม หลังพิจารณารายมาตราเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อช่วงเย็นที่ผ่านมามีการพักประชุมเป็นรอบที่ 3 เพื่อขัดเกลามาตราที่ยังไม่เรียบร้อยก่อนที่จะลงมติรายมาตราเป็นลำดับต่อไป.-สำนักข่าวไทย