กรุงเทพฯ 18 ม.ค. – กลุ่ม ปตท.เดินหน้าเตรียมขยายลงทุนทั้งในและต่างประเทศ พร้อมร่วมมือกับ กฟผ. สร้างความมั่นคงแก่ประเทศ ชี้เงินบาทแข็งไม่กระทบ เพราะการค้าขายส่วนใหญ่เป็นดอลลาร์ฯ
ในงานผู้บริหารพบสื่อมวลชนของกลุ่ม ปตท. ประจำปี 2561 ซึ่งมีทั้ง ปตท. บมจ.ไออาร์พีซี, บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.), บมจ.จีพีเอสซี, บมจ.ไทยออยล์ และ บมจ.พีทีทีโกลบอลเคมิคอล (พีทีทีจีซี ) ทุกรายพร้อมเดินหน้าตามแผน PTT 3D ต่อเนื่อง โดยในส่วนแผนปรับปรุงประสิทธิภาพโดยในส่วนของ ปตท.ปี 2560 ช่วยเพิ่มกำไรก่อนหักดอกเบี้ยและภาษีหรืออีบิทเฉพาะ ปตท.ได้ถึงเกือบ 3,000 ล้านบาท และเร่งตัดสินใจการลงทุนทั้งระยะสั้นและระยะยาว เช่น ไออาร์พีซี มีโครงการใหม่ คือ MARSเป็นการผลิตผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์ รวม 1.3 ล้านตัน/ปี ได้แก่ สารพาราไซลีน 1 ล้านตัน/ปี และเบนซีน 300,000 ตัน/ปี มูลค่าลงทุน 1,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จะศึกษาการลงทุนชัดเจนปีนี้หากตัดสินใจชัดเจนโรงงานจะสร้างเสร็จอีก 5 ปีข้างหน้า เช่นเดียวกับไทยออยล์ พีทีทีจีซี จะขยายการลงทุนสนองตอบต่อโครงการระเบียงเศรษฐกิจหรืออีอีซีของรัฐบาล และทุกรายต่างหาช่องทางขยายงานในต่างประเทศ
นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ซีอีโอ ปตท. กล่าวถึงราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ขณะนี้ใกล้เคียง 70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ว่า คงเป็นสถานการณ์ชั่วคราวและจากสหรัฐที่พร้อมเพิ่มกำลังผลิต ทาง ปตท.จึงยังไม่เปลี่ยนคาดการณ์เฉลี่ยราคาน้ำมันดิบดูไบปีนี้ที่ 55 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และ ปตท.ยังพร้อมร่วมลงทุนกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทั้งการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) มาป้อนโรงไฟฟ้าในไทย หรือร่วมทุนสร้างโรงไฟฟ้าในประเทศเพื่อนบ้าน
“เงินบาทแข็งค่า กลุ่ม ปตท.ไม่ค่อยได้รับผลกระทบ เพราะการค้าขายเป็นดอลลาร์ราคาขึ้นลงตามน้ำมันถือว่าเป็นการประกันความเสี่ยงทางธรรมชาติ (Natural Hedge)” ซีอีโอ ปตท. กล่าว
นายสมพร ว่องวุฒิพรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) เปิดเผยว่า ปริมาณขายปิโตรเลียมและต้นทุนการผลิตปี 2561 คาดจะใกล้เคียงปี 2560 อยู่ที่ประมาณ 300,000 บาร์เรล/วัน และต้นทุนต่อหน่วย (unit cost) อยู่ที่ 29-30 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ดังนั้น หากราคาน้ำมันสูงมากขึ้นก็เป็นผลดีต่อรายได้ของบริษัท แผนงานในปีนี้จะยังคงมองหาโอกาสการลงทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหลัก ทั้งในไทย เมียนมาร์ มาเลเซีย และอาจจะขยายไปยังตะวันออกลางที่มองว่ามีอัตราการเติบโตของการผลิตปิโตรเลียมเพิ่มเติม ขณะนี้อยู่ระหว่างการเข้าประมูลสัมปทานในมาเลเซีย และทำดีลซื้อกิจการ (M&A) ซื้อสินทรัพย์เพิ่มเติม คาดจะรู้ผลใน 2 เดือนนี้ และให้ความสำคัญกับเรื่องการประมูลแหล่งบงกชและเอราวัณเป็นเรื่องหลัก รวมถึงขยายการลงทุนในแปลงปิโตรเลียมที่มีศักยภาพด้วย
นายสุกฤตย์ สุรบถโสภณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ไออาร์พีซี คาดกำไรสุทธิปี 2560 จะดีกว่าปี 2559 และดีกว่าเป้าหมายที่วางไว้ โดยโครงการ EVEREST เพื่อเพิ่มขีดความสามารถขององค์กรทุกด้านนั้นสามารถสร้างอีบิทปีนี้ได้ตามเป้าที่ 7,000 ล้านบาท และปีหน้าคาดว่าจะสร้างอีบิทได้ 10,000 ล้านบาท รวมถึงทุกโครงการที่ลงทุนปีนี้เสร็จทั้งหมด ทั้งโครงการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ (UHV) ของโรงกลั่นและการขยายกำลังการผลิตโพลีโพรพิลีน (PP) อีก 300,000 ตัน/ปี และโรงไฟฟ้าไออาร์พีซี คลีน เพาเวอร์ ขนาด 240 เมกะวัตต์ แล้วเสร็จ ประกอบกับไม่มีแผนหยุดซ่อมบำรุงโรงงาน เชื่อว่าจะผลักดันให้กำไรสุทธิปี 2561 ดีกว่าปีก่อน
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของโครงการ EVEREST คงจะไม่สามารถผลักดันให้กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย,ภาษี,ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (อีบิทด้า) ได้ตามเป้าหมาย 29,000 ล้านบาทในปี 2563 ทำให้บริษัทต้องหาโครงการใหม่ เพื่อได้อีบิทด้าได้ตามเป้าหมาย ด้วยโครงการ GDP ซึ่งแบ่งเป็น 1. Power of Growth ซึ่งจะดำเนินการภายใต้โครงการ MARS โดยเป็นการผลิตผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์ รวม 1.3 ล้านตัน/ปี ได้แก่ สารพาราไซลีน 1 ล้านตัน/ปี และเบนซีน 300,000 ตัน/ปี มูลค่าลงทุน 1,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะเร่งศึกษาหากตัดสินใจลงทุนจะใช้เวลา 5 ปีจะก่อสร้างโรงงานเสร็จ 2.Power of Digital ซึ่งเป็นการลงทุนในโครงการ IRPC 4.0 และ 3. Power of People ซึ่งเป็นการสร้างบุคลากรเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต
ทั้งนี้ บริษัทตั้งงบลงทุน 5 ปี (ปี 2561-2565) ที่ระดับกว่า 10,000 ล้านบาท โดยยังไม่นับรวมโครงการ MARS และงบการเข้าซื้อกิจการ (M&A) ซึ่งบริษัทคาดว่าจะมีกระแสเงินสดในช่วง 5 ปีนี้ประมาณ 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้มีศักยภาพที่จะมองการลงทุนใหม่ ๆ ด้วยการทำ M&A เป็นครั้งแรก และล่าสุดได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาระดับโลกเข้ามาดูโครงการต่าง ๆ โดยคาดว่าน่าจะเห็นเป้าหมายใน 1 เดือนนี้
นายอธิคม เติบศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ไทยออยล์ คาดว่าผลประกอบการปี 2560 จะอยู่ในระดับที่ดี หลังอัตราการใช้กำลังการกลั่นที่ระดับร้อยละ 112 ขณะที่มาร์จิ้นธุรกิจอยู่ในเกณฑ์ดีและต้นทุนการผลิตที่อยู่ในระดับต่ำตามทิศทางราคาน้ำมันที่ต่ำ ตลอดจนมีโครงการลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่มีประสิทธิภาพ ส่วนปี 2561-2562 วางแผนจะใช้เงินลงทุนประมาณ 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 4,500 ล้านบาท สำหรับโครงการที่ได้รับอนุมัติแล้วในเรื่องระบบสาธารณูปโภค ส่วนโครงการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ (Clean fuel Project:CFP) มูลค่าไม่เกิน 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์น้ำมันและเพิ่มกำลังการกลั่นเป็น 400,000 บาร์เรล/วัน จากระดับ 275,000 บาร์เรล/วัน คาดว่าจะตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้ายในไตรมาส 3/2561
นายเติมชัย บุนนาค ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (จีพีเอสซี) กล่าวว่า บริษัทเตรียมงบลงทุนตามแผน 5 ปี (ปี 2561-2565) ที่ 28,600 ล้านบาท สำหรับการขยายการลงทุนในโครงกการเดิมและโครงการใหม่ ซึ่งการลงทุนภายในประเทศจะเน้นขยายการลงทุนตามกลุ่มบมจ.ปตท. (พีทีที) รวมถึงการลงทุนระบบกักเก็บพลังงาน (energy stroage) ซึ่งคาดว่าจะสร้างโรงงานในปีนี้และจะเดินเครื่องปี 2562 นอกจากนั้นจะเป็นการลงทุนในต่างประเทศทั้งรูปแบบลงทุนใหม่และซื้อกิจการ ขณะที่ผลประกอบการปี 2560 คาดว่าจะเติบโตได้ตามเป้าหมาย ส่วนปี 2561คาดว่ารายได้จะเพิ่มขึ้นหลังจะรับรู้ผลการดำเนินงานของโครงการที่ได้ลงทุนแล้วเสร็จในปีนี้ ซึ่งจะรับรู้รายได้เต็มปีในปี 2561
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์. ซีอีโอพีทีทีจีซี กล่าวว่า งบลงทุน 5 ปี (2561-2565) อยู่ที่ประมาณ 180,000 ล้านบาท โดยยังเดินหน้าแผนลงทุนในประเทศและต่างประเทศต่อเนื่อง โดยโครงการพลาสติกเกรดพิเศษในอีอีซีจะมีการประการร่วมทุนอีก 2 -3 รายในเร็ว ๆ นี้ หลังประกาศไปแล้ว 2-3 ราย และจะขยายตลาดจำหน่วยไปยังกลุ่ม CLMV เพิ่มขึ้น. – สำนักข่าวไทย