ทำเนียบฯ 16 ม.ค. – รัฐบาลส่งเสริมคนไทยมีบุตรเพิ่ม
คนที่สองหักลดหย่อนภาษี 60,000 บาท เริ่มเกิดในปี 61
หลังไทยเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ขณะที่คลังใจป้ำให้สิทธินำค่าคลอดบุตร
ฝากครรภ์ หักลดหย่อนสูงสุด 60,000 บาทต่อคนต่อปี
แถมหนุนเอกชน องค์กร ตั้งศูนย์รับเลี้ยงเด็กแรกเกิดในองค์กรดูแลครอบครัวอบอุ่น
นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์
ที่ปรึกษารัฐมนตรี ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามข้อเสนอกระทรวงการคลัง
เพื่อออกมาตรการภาษีส่งเสริมการมีบุตรเพิ่ม สำหรับบุตรคนแรกหักค่าลดหย่อนได้ 30,000 บาทต่อปี
หากมีบุตรคนที่สองชอบด้วยกฎหมาย
ปรับเพิ่มค่าลดหย่อนเพิ่มเติมให้กับผู้มีเงินได้สามีหรือภริยา นับการเกิดตั้งแต่ปี 2561
เป็นต้นไป หักลดหย่อนได้จำนวน 60,000 บาท ต่อคนต่อปีภาษี เริ่มใช้สำหรับปีภาษี 2561
เพื่อยื่นแบบรายการเสียภาษีในปี 2562
นอกจากนี้
ยังให้นำค่าฝากครรภ์หรือค่าคลอดบุตร
หักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามจำนวนที่จ่ายจริงสำหรับการตั้งครรภ์ไม่เกิน 60,000 บาท
แต่หากฝากครรภ์คาบเกี่ยวระหว่างปีภาษีให้แบ่งค่าใช้จ่ายตามจริงในปีนั้นๆ แต่รวมกันทั้งฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรไม่เกิน
6 หมื่นบาท
มาตรการดังกล่าว หวังรองรับโครงสร้างประชากรของประเทศ เริ่มเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุในปี
2579 อย่างเต็มรูปแบบ โดยจะมีผู้สูงอายุในสัดส่วนร้อยละ 30
ของประชากรทั้งประเทศนับว่ามียอดสูงมาก ยอมรับว่ามาตรการดังกล่าวส่งผลให้รัฐสูญรายได้ประมาณปีละ
2,500 ล้านบาท ถือว่าไม่สูงเกินไป
ขณะเดียวกัน
ที่ประชุมครม.ยังได้เห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์รับเลี้ยงเด็กเพื่อเป็นสวัสดิการของลูกจ้าง
สำหรับสถานประกอบการของบริษัท หรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล โดยกำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถนำค่าใช้จ่ายในการจัดตั้งศูนย์รับเลี้ยงเด็กในสถานประกอบการมาหักเป็นรายจ่ายได้ตามที่จ่ายจริง
หักลดหย่อนได้ 2
เท่าตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 1 ล้านบาท
เพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการจัดตั้งศูนย์รับเลี้ยงเด็กเพื่อเป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานให้แก่ลูกจ้าง
พนักงาน องค์กรต่างๆ หวังส่งเสริมเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้พ่อแม่
ได้อยู่ใกล้ชิดกับเด็กแรกเกิด เด็กอ่อน เพราะจำนวนสูงถึง 4
ล้านคน
สามารถนำค่าใช้จ่ายในรอบระยะบัญชีที่เริ่มวันที่ 1 มกราคม 2561 – 31 ธันวาคม 2563
คาดว่ามาตรการดังกล่าว จะส่งผลให้รัฐสูญรายได้ไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อปี หรือไม่เกิน 60 ล้านบาท ในช่วง 3 ปีของมาตรการดังกล่าว
ครม.ยังเห็นชอบการนำเงินบริจาคสถานพยาบาล
หักลดหย่อนได้ถึง 2 เท่า แต่ไม่เกินร้อยละ 10
ของเงินได้พึงประเมิน ขณะที่ภาคเอกชนหักลดหย่อนได้ 2 เท่า
แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิ
เพื่อส่งเสริมให้ช่วยกันบริจากเงินช่วยเหลือสถานพยาบาลทั้งของรัฐ
และยืนยันว่าแนวคิดดังกล่าวเกิดขึ้นก่อน พี่ตูน
บอดี้สแลมจะจัดโครงการวิ่งเพื่อรับบริจาคกับโรงพยาบาล
เนื่องจากรัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณให้สถานพยาบาลของรัฐในปี 60 วงเงิน 4,979 ล้านบาท สนับสนุนสถานพยาบาลที่มีปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน
โดยโรงพยาบาลของรัฐมีรายได้ 253,389 ล้านบาท มีค่าใช้จ่าย 242,324 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 11,065 ล้านบาท และโรงพยาบาลจำนวน 413
แห่งประสบปัญหาขาดทุน รวมเป็นเงิน 4,374 ล้านบาท จึงต้องการใช้เงินจากส่วนอื่นมาช่วยเหลือเพิ่มเติม
อาทิ เงินบริจาคของส่วนต่างๆจากทุกภาคส่วน บรรเทางบประมาณของรัฐบาลได้บางส่วน
นอกจากนี้ยังจัดสรรงบประมาณผ่านสถาบันการศึกษาเพื่อมอบทุนให้กับนักเรียนเน้นในกลุ่มด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีชีวภาพ ระบบราง นาโนเทคโนโลยี เพื่อศึกษาในอุตสาหกรรม 10 กลุ่มเป้าหมายผ่านสถาบันราชภัฏ เทคโนโลยีราชมงคล ในช่วงปี 61-65 จำนวน 1,500
ทุน สำหรับศึกษาในต่างประเทศ 1,400 ทุน
และศึกษาในประเทศ 100 ทุน ใช้งบประมาณ 11,000 ล้านบาท เพื่อให้นักศึกษาไทยกลับมาช่วยพัฒนาประเทศ.-สำนักข่าวไทย