กรุงเทพฯ 15 ม.ค. –ผอ.สำนักทะเบียน ระบุ หลังปรับขึ้นค่าธรรมเนียมทำบัตรประชาชน พบจำนวนขอทำบัตรลดลง ชี้หากแจ้งหายบ่อยครั้งอาจเข้าข่ายแจ้งความเท็จ
นายวิเชียร ชิดชนกนารถ ผู้อำนวยการสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงการแจ้งทำบัตรประจำตัวประชาชนจะต้องเข้า 3 กรณีคือ 1.กรณีขอออกบัตรประจำตัวประชาชนครั้งแรกหรือขอออกบัตรใหม่เนื่องจากบัตรหมดอายุ 2.กรณีบัตรชำรุด และ 3.กรณีบัตรหาย โดยกรณีการแจ้งบัตรหายเพื่อขอทำบัตรใหม่ หากเป็นการแจ้งหาย เช่น รูปถ่ายไม่สวย เสื้อผ้าไม่สวย และไปขอออกบัตรใหม่บ่อยครั้ง จะเข้าข่ายแจ้งความเท็จ
“ตามปกติแล้ว ปลัดอำเภอ พนักงาน เจ้าหน้าที่ทำบัตรประจำตัวประชาชนจะเห็นประวัติการทำบัตร และหน้าตาของผู้ที่มาขอทำบัตรก็สามารถสอบสวนให้ได้ความขณะที่บุคคลนั้นมาแจ้งของทำบัตรใหม่ และเป็นดุลพินิจของเจ้าพนักงานออกบัตรว่าจะอนุมัติให้ทำบัตรใหม่หรือไม่ ตามความในกฎกระทรวงของพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน ซึ่งในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ค่าธรรมเนียมการทำบัตรประจำตัวประชาชนอยู่ที่ 20 บาทต่อปี มีคนแจ้งบัตรหายประมาณ 3 ล้านราย แต่พอแก้กฎกระทรวงปรับค่าธรรมเนียเป็น 100 บาท พบตัวเลขประชาชนแจ้งทำบัตรหายประมาณ 4-5 แสนราย เพราะในอดีตบางครั้งประชาชนหาบัตรประจำตัวประชาชนไม่เจอก็มาแจ้งว่าบัตรหาย ซึ่งการปรับขึ้นค่าธรรมเนียมมีส่วนปิดช่องว่างดังกล่าวได้ส่วนหนึ่ง” นายวิเชียร กล่าว
นายวิเชียร กล่าวว่า กรณีการทำบัตรประจำตัวประชาชนบ่อยครั้งจะถูกบันทึกในฐานข้อมูลของสำนักทะเบียนราษฎรอยู่แล้วว่าแต่ละปีบุคคลใดมีจำนวนแจ้งทำบัตรประจำตัวประชาชนกี่ครั้ง ซึ่งหากถูกตรวจสอบว่านำบัตรประจำตัวประชาชนไปกระทำการใดที่เข้าข่ายความผิดจะมีโทษตามฐานความผิดของกฎหมายนั้น ทั้งนี้ การแจ้งขอทำบัตรใหม่เนื่องจากสูญหายไม่ว่ากรณีใด บางครั้งเจ้าพนักงานออกบัตรคงไม่สามารถห้ามหรือไม่อนุญาต เพราะบัตรประจำตัวประชาชนเป็นสิ่งที่รัฐบังคับให้คนไทยทุกคนต้องทำเพื่อยืนยันตัวบุคคล ซึ่งหน่วยงานรัฐหรือเอกชนที่ต้องใช้บัตรประจำตัวประชาชนยืนยันตัวบุคคลควรจะตรวจสอบเช่นเดียวกับกรมการกงสุลปฏิบัติในการทำพาสปอร์ต
“หน่วยงานต่าง ๆ ควรปรับเปลี่ยนจากการใช้สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน เพื่อใช้รับรองการทำนิติกรรม ทำสัญญาต่าง ๆ มาใช้รูปแบบดิจิทัลด้วยการเสียบบัตรที่เครื่องอ่านการ์ด เพื่อตรวจสอบข้อมูลบุคคลและสถานะบัตรแทนการสำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน เพราะข้อมูลในบัตรสามารถใช้พิมพ์แบบฟอร์มได้เลย ซึ่งธนาคารก็ดำเนินการแล้ว เพียงแต่ต้องเพิ่มเรื่องการตรวจสอบสถานะบัตรก็จะครบองค์ประกอบ”นายวิเชียร กล่าว.-สำนักข่าวไทย
