อุตรดิตถ์ 10 ต.ค.- อุโบสถ์เก่าแก่วัดคลึงคราชผูกตำนานพระเวสสันดรชาดก ขึ้นทะเบียนโบราณสถานทรุดโทรมมากหวั่นพังครืน ต้องใช้ลวดสลิงรัดรอบและค้ำยันเสาประคองไว้ ห้ามประชาชนเข้าใกล้ เรียกร้องกรมศิลป์ฯ เร่งบูรณะ
พระชาติ จตมโร (จะตะมะโร) พระลูกวัดคลึงคราช (คะลึงคะราช) หมู่ 4 บ้านเด่นสำโรง ต.หาดสองแคว อ.ตรอน จ.อุตรดิตถ์ ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าอาวาสวัดดูแลรับผิดชอบโบราณสถานโบราณวัตถุภายในวัด เปิดเผยถึงสภาพอุโบสถ์เก่าแก่ อายุ 109 ปี โบราณสถานขึ้นทะเบียนโดยกรมศิลปกรเพื่อเป็นสมบัติของชาติว่า อุโบสถ์ดังกล่าวเป็นศิลปะแบบลาวเวียงจันทน์ หลวงพระบาง ลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 8 เมตร ยาว 16 เมตร สูง 10 เมตร เป็นโบสถ์แบบมหาอุด มีประตูทางเข้าด้านหน้าเพียงด้านเดียว มีหน้าต่าง 2 ด้าน รวม 6 ช่อง และมีสิงห์คู่ตั้งอยู่ด้านหน้าประตูทางเข้า หลังคามุงด้วยสังกะสี ขณะนี้มีสภาพทรุดโทรมและแตกร้าวแยกออกจากกัน เสี่ยงพังทลายลงมาอาจไม่ปลอดภัยกับประชาชนและนักท่องเที่ยวที่มาทำบุญ ทางวัดใช้ลวดสลิงขึงรัดรอบตัวโบสถ์ พร้อมนำไม้และเสาปูนช่วยค้ำยันผนังด้านทิศเหนือ ที่เอียงและทรุดตัว เพื่อไม่ให้ตัวอาคารของโบสถ์พังลงมา และห้ามประชาชนเข้าใกล้บริเวณดังกล่าว ส่วนภายในอุโบสถ์กลายเป็นที่อยู่อาศัยของนกพิราบ
พระชาติ กล่าวว่า อุโบสถ์ดังกล่าวก่อสร้างปี พ.ศ.2450 โดยหลวงพ่อพุ่ม จันทสโร อดีตเจ้าอาวาสวัดคลึงคราช พระเกจิและพระนักเทศน์ชื่อดังของจังหวัดอุตรดิตถ์ และพุทธศาสนิกชนชาวตำบลหาดสองแคว ตามภูมิปัญญาของชาวลาวเวียงจันทร์ คือ อิฐทุกก้อนใช้ดินเผาจากการขุดบ่อเลี้ยงปลาภายในวัด เรียงเป็นรูปสี่เหลี่ยม ไม่มีเสา และโครงสร้างหลังคาใช้ไม้สัก เพื่อใช้เป็นสถานที่ในกิจกรรมของสงฆ์ เพื่อเป็นการสืบทอดพระพุทธศาสนา หลังกรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียน ตามระเบียบในรัศมีใกล้เคียง 20 เมตรห้ามมีการก่อสร้างและดำเนินการใดๆ ทำให้อุโบสถ์ถูกปล่อยร้าง ทางวัดไม่สามารถเข้าไปพัฒนาหรือปรับปรุงซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพที่ดีกว่าปัจจุบันนี้ได้ จึงอยากให้เจ้าหน้าที่กรมศิลปากรเข้ามาตรวจสอบและเร่งซ่อมแซมให้โดยไว เพราะหวั่นพังทลายลงมา และหวั่นเป็นอันตรายต่อประชาชนทั่วไปที่แวะเข้ามาท่องเที่ยวภายในวัด
พระชาติ เล่าว่า วัดแห่งนี้ถูกผูกและเล่าเรื่องตั้งอยู่ในเมืองตาชูชก ซึ่งเป็นเมืองเก่าแก่และมีประวัติความเป็นมากับพุทธประวัติของพระพุทธเจ้า ในชาดกเรื่องพระเวสสันดร โดยเฉพาะกัณฑ์ชูชก 1 ใน 13 กัณฑ์ เทศมหาชาติพระเวสสันดรชาดก เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพุทธศาสนาของนักเรียน นักศึกษา จัดคณะมาศึกษาเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง.-สำนักข่าวไทย