ศธ. 9 ม.ค.-นายกรัฐมนตรีย้ำหลักการปฏิรูปอาชีวะ ต้องเจาะจง เร่งผลิตสาขาที่มีความต้องการเร่งด่วน โดยวันพรุ่งนี้ ศธ.นัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วางแผนดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าการปฏิรูปอาชีวศึกษาหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีมอบให้กระทรวงศึกษาฯ ดำเนินการเป็นวาระเร่งด่วน ว่า การปฏิรูปเริ่มมีแผนดำเนินการที่ชัดเจนขึ้น โดยวันพรุ่งนี้(10 ม.ค.) ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จะเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา,มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ,มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ , สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เพื่อร่วมกันปฏิรูปอาชีวศึกษาใน 3 ด้าน ได้แก่ ยกประสิทธิภาพและคุณภาพของสอศ. , พัฒนาศักยภาพ ผู้เรียนอาชีวะให้มีความเชื่อมโยงกับระบบมหาวิทยาลัย,และปรับฐานเงินเดือนให้ผู้ที่จบสายอาชีพ โดยเริ่มนำร่องกับกลุ่มสถาบันที่มีศักยภาพ ให้มีการพิจารณาให้ทุนเด็กมาเรียนต่อในสาขาที่เป็นความต้องการของประเทศก่อน รวมถึงเสนอให้ปฏิรูปการเรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) เรียนต่อจนถึงระดับปริญญาตรี หลังที่ผ่านมาเรียนต่อน้อย เพราะการเรียนไม่สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องและเชื่อมโยง ซึ่งหากสถานศึกษาในสังกัด สอศ.ใดทำได้ ผลิตบัณฑิตที่มีความต้องการเร่งด่วนจะให้งบประมาณเป็นเงินรายหัวโดยเฉพาะในหลักสูตรปริญญาโทซึ่งจะต้องเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
นพ.ธีระเกียรติ กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรีได้ย้ำหลักการการทำงานกับตนว่าต้องโฟกัสและเจาะจงเฉพาะด้าน ซึ่งได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ไปดูว่าต้องเริ่มปฏิรูปในสาขาที่มีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่ต้องผลิตพิเศษ เช่น ระบบราง ไทยกำลังมีรถไฟฟ้าความเร็วสูง, การบิน ช่างอากาศยาน , สาขาที่เกี่ยวข้องกับโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) และหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจ 4.0 เช่นโรโบติกส์และแมคคาทรอนิกส์หรือสาขาที่จำเป็นต้องมีช่าง
ส่วนอุดมศึกษาจะต้องดำเนินการพัฒนาหลักสูตรล้อตามกันไปด้วย ขณะเดียวกันเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ให้มีการรวมตัวของกลุ่มสถาบันที่มีการผลิตหลักสูตรเดียวกัน เพื่อให้เกิดการต่อยอดและง่ายต่อการเจรจาความร่วมมือกับต่างประเทศไปในทิศทางเดียวกัน การผลิตไม่ซ้ำซ้อน เพราะเดิมทั้งอาชีวศึกษาและอุดมศึกษาต่างคนต่างทำ โดยเมื่อรวมกลุ่มกันแล้วให้ขึ้นตรงกับรองเลขาธิการอาชีวศึกษา ในการบริหารจัดการต่างๆ.-สำนักข่าวไทย