กทม. 8 ม.ค. – หลังปรากฏภาพ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อยู่ที่ประเทศอังกฤษ พร้อมกับมีกระแสข่าวว่าได้ยื่นคำขอลี้ภัยไปแล้วตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2560 ไปติดตามขั้นตอนและปฏิกิริยาของผู้เกี่ยวข้อง จากรายงานของทีมข่าวการเมือง สำนักข่าวไทย
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และผู้ต้องหาที่หลบหนีคดีปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว หายตัวไปกว่า 4 เดือน ล่าสุดปรากฏภาพอยู่ที่ประเทศอังกฤษ และมีข้อมูลว่าได้ยื่นคำขอลี้ภัยแล้ว
มูลเหตุในการขอลี้ภัยคือ เรื่องของเชื้อชาติ สัญชาติ ศาสนา และการเมือง ขั้นตอนการยื่นคำร้องขอลี้ภัยสามารถทำได้หลายทาง คือ การยื่นเรื่องต่อสถานทูตของตนเอง หรือสถานทูตในประเทศที่ต้องการลี้ภัย หรือแม้กระทั่ง ตม.ในประเทศที่ลี้ภัย โดยต้องมีหลักฐานและเหตุผลมาแสดงประกอบ สำหรับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ให้ทนายความนำคำพิพากษาไปเป็นหลักฐานยื่นต่อรัฐบาลอังกฤษ อ้างว่า เป็นการไต่สวนและพิพากษาคดีรับจำนำข้าวไม่ได้รับความเป็นธรรม ทั้งนี้ จะต้องผ่านกระบวนการสัมภาษณ์จากเจ้าหน้าที่อังกฤษเพื่อสอบถามถึงเหตุผลในการที่ขอลี้ภัย รวมถึงที่พักอาศัยในประเทศอังกฤษ หลังยื่นแล้วต้องรอผลประมาณ 6 เดือน ระหว่างรอสามารถอาศัยในประเทศนั้นๆ ได้ และการยื่นขอลี้ภัยขอได้คราวละ 5 ปี
ในอดีต ประเทศไทยเคยมีบุคคลที่ลี้ภัยไปต่างประเทศ เช่น จอมพล แปลก พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี คนที่ 3 ลี้ภัยไปประเทศญี่ปุ่น นายทวี บุณยเกตุ นายกรัฐมนตรีคนที่ 5 ลี้ภัยทางการเมืองไปใช้ชีวิตที่ปีนัง ประเทศมาเลเซีย นายปรีดี พนมยงค์ นายกรัฐมนตรีคนที่ 7 ที่ลี้ภัยการเมืองไปยังประเทศจีนและฝรั่งเศส รวมถึงนายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี คนที่ 23 ลี้ภัยไปประเทศมอนเตเนโกร
ทั้งนี้ ตามสถิติพบว่าประเทศซึ่งเป็นที่นิยมของผู้ขอลี้ภัย 10 อันดับแรก คือ เยอรมนี อเมริกา อิตาลี ฝรั่งเศส ตุรกี กรีซ ออสเตรีย อังกฤษ ฮังการี ออสเตรเลีย
จับตาดูว่าการยื่นขอลี้ภัยครั้งนี้ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะสำเร็จหรือไม่ ขณะที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติยังคงเดินหน้าตามหาพิกัด น.ส.ยิ่งลักษณ์ โดยประสานอินเตอร์โพลขอตัวผู้ร้ายข้ามแดนเพื่อนำกลับมาดำเนินคดีตามกฎหมายของประเทศไทยต่อไป. – สำนักข่าวไทย