กรุงเทพ ฯ 8 ม.ค. – ธปท.ยืนยันไม่มีกฎหมายรับรองการซื้อขายบิทคอยน์ หลัง บล.ฟิลลิปประกาศเปิดเทรดบิทคอยน์ฟิวเจอร์ส ด้านตลท.ย้ำนักลงทุนต้องศึกษาและรับความเสี่ยงได้
จากกรณีที่ บล.ฟิลลิป เปิดให้บริการเทรดบิทคอยน์ฟิวเจอร์สในไทย ผ่านการซื้อขายตลาดล่วงหน้า คือ ตลาด CME (The Chicago Mercantile Exchange) และ CBOE (Chicago Board Options Exchange)
นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายยุทธศาสตร์และความสัมพันธ์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ทาง ธปท.ไม่เคยรับรองเงินสกุลดิจิทัลและบิทคอยน์เป็นสกุลเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ดังนั้น ขอเวลาตรวจสอบก่อนว่าการเทรดดังกล่าวมีการขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ก่อนหรือไม่อย่างไร หรือถือเป็นการซื้อขายในตลาด CME (The Chicago Mercantile Exchange) และ CBOE (Chicago Board Options Exchange)
นางจันทวรรณ กล่าวว่า ธปท.ขอตรวจสอบว่าเป็นการนำเงินออกไปลงทุนในต่างประเทศตามช่องทางที่ ธปท.ได้เคยอนุญาตไปแล้ว ได้แก่ การลงทุนผ่านสถาบันตัวกลาง คือ บล.ในประเทศไทย ที่ทำหน้าที่กลั่นกรองและดูแลให้นักลงทุนได้รับคำแนะนำที่ถูกต้อง ซึ่งจะต้องเป็นนักลงทุนที่สามารถจะรับความเสี่ยงได้ เพราะราคาของสินค้าพื้นฐาน (Digital Commodity) นี้ในตลาดล่วงหน้ามีความผันผวนสูงมาก
อย่างไรก็ตาม ข้อความที่น่าจะเป็นการเชิญชวนให้ผู้อ่านเข้าใจผิด คือ การอ้างเป็น บล.รายแรกและรายเดียวในประเทศไทยที่สามารถซื้อขายบิตคอยน์ ได้อย่างถูกต้องตามกฏหมายและได้รับการรับรองจาก ธปท. เพราะ ธปท.ไม่เคยรับรองบิตคอยน์ เป็นสกุลเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย
นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า หากเป็นการลงทุนในตลาดต่างประเทศ อาทิ CME (The Chicago Mercantile Exchange) ที่เป็นตลาดซื้อขายบิตคอยน์ถูกกฎหมายในประเทศสหรัฐนั้นก็ถือว่าเป็นไปได้ เนื่องจากช่วงที่ผ่านมารัฐบาลไทยได้สนับสนุนให้มีการลงทุนไปยังต่างประเทศ แต่ไม่ได้ระบุหรือมีกฎเกณฑ์ ที่กำหนดขอบเขตของการลงทุน ซึ่งการออกไปลงทุนในรูปแบบนี้เกิดขึ้นมองว่านักลงทุนต้องมีความรู้และความเข้าใจเพียงพอ และสามารถรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้
ด้าน ก.ล.ต.ระบุว่า ตลาด The Chicago Mercantile Exchange และ The CBOE Futures Exchange ซึ่งเป็นตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในสหรัฐอเมริกาที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ Commodity Futures Trading Commission ของสหรัฐอเมริกา (US CFTC) ซึ่งบริษัทหลักทรัพย์ไทยสามารถบริการลูกค้าที่ประสงค์จะลงทุนผ่านตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในต่างประเทศดังกล่าวได้อยู่แล้ว เนื่องจากเป็นตลาดที่อยู่ใต้กำกับขององค์กรสมาชิก International Organization of Securities Commissions (IOSCO) ซึ่งมีข้อตกลงความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน
เนื่องจากผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอยู่ภายใต้การกำกับดูแลขององค์กรกำกับดูแลที่ได้มาตรฐาน ประเด็นที่น่าเป็นห่วงในกรณีนี้จึงมิใช่เรื่องฉ้อโกงหรือฟอกเงิน แต่เป็นเรื่องที่ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีความเสี่ยงสูงมากจากหลายปัจจัย ทั้งความผันผวนของสกุลเงินดิจิทัลที่เป็นสินค้าอ้างอิง รูปแบบผลิตภัณฑ์ที่มีอัตราทด (leverage) ในตัว ทำให้อัตราของผลกำไรขาดทุนสูงกว่าสินค้าอ้างอิง และการต้องเตรียมสภาพคล่องเพื่อรองรับการถูกเรียกหลักประกันเพิ่มรายวัน ดังนั้น ผู้ลงทุนจึงต้องคำนึงถึงความสามารถในการรับความเสี่ยงของตนด้วย หากไม่เข้าใจหรือไม่พร้อมก็ควรหลีกเลี่ยง ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้กำชับบริษัทหลักทรัพย์ที่ให้บริการในลักษณะดังกล่าวต้องประเมินความเหมาะสมในการแนะนำลูกค้า โดยคำนึงถึงความรู้ความเข้าใจในผลิตภัณฑ์ ฐานะทางการเงิน และความสามารถในการรับความเสี่ยงของลูกค้าด้วย.-สำนักข่าวไทย

