กรุงเทพฯ 3 ม.ค. – ปัจจุบันการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ เริ่มได้รับความนิยมจากคนไทย มีมหาวิทยาลัยกว่า 25 แห่ง เปิดคอร์สเรียนระยะสั้น เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต อย่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดหลักสูตร CU MOOC (ซียูมูค) เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา ให้ผู้ที่สนใจลงทะเบียนเรียนกว่า 10 หลักสูตร
เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา และไม่มีค่าใช้จ่าย คือข้อดีของการเรียนผ่านระบบออนไลน์ ที่ “แอม” นักประชาสัมพันธ์ เลือกลงคอร์สเรียนระยะสั้น วิชาการทำความเข้าใจงบการเงิน ของหลักสูตร CU MOOC เธอบอกว่าไม่ยุ่งยาก แค่มีโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ต เดิมต้องเสียเงินและเวลาสมัครเรียน หลังเรียนจบได้ใบประกาศนียบัตรรับรอง ใช้ยื่นประกอบการทำงาน
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิด 10 หลักสูตร อาทิ การตลาดในศตวรรษที่ 21 การคิดวิเคราะห์ธุรกิจ ทำอย่างไรให้สินค้าโกอินเตอร์ ภาษาอาหรับ การเรียนใช้เวลา 3-5 ชั่วโมง แต่ให้เวลาเรียนเกือบ 2 เดือน มีระบบสอบวัดความรู้ก่อน ระหว่าง และหลังเรียน มีผู้สมัคร 15,000 คน อายุ 25-45 ปี จบหลักสูตรร้อยละ 20 ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่ดี เพราะอุปสรรคของการเรียนออนไลน์ คือ ต้องดึงดูดผู้เรียนให้สนใจได้
จุดเด่นของ CU MOOC คือ ออกแบบหลักสูตรตามความต้องการของผู้เรียนและตลาดแรงงาน ใช้รูปแบบการเรียนออนไลน์ (คอร์สวิล) ที่พัฒนาขึ้นเอง การสอนใช้สื่อทันสมัย ภาษาเข้าใจง่าย เตรียมเปิด 30 หลักสูตรใหม่ในปีนี้ พร้อมพัฒนาใบประกาศนียบัตรให้เทียบวุฒิได้ และมีสถานประกอบการติดต่อให้ออกแบบหลักสูตรฝึกพนักงาน เพราะเห็นความสำคัญของทักษะมากกว่าใบปริญญา
การเรียนออนไลน์ในต่างประเทศได้รับความสนใจอย่างแพร่หลาย มหาวิทยาลัยดัง ทั้งแสตมฟอร์ด ออกซฟอร์ด ออกแบบหลักสูตร อาทิ EDX Coursera และ MIT OpenCourseWare โดยบริษัทหลายแห่งรับพนักงานที่ผ่านการเรียนออนไลน์ ขณะที่ไทยได้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย โดย สกอ. เพื่อให้บริการอีเลิร์นนิ่งแก่ประชาชนทุกคน ผ่านเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ปัจจุบันเปิด 17 หลักสูตร และมีผู้ใช้บริการแล้วเกือบ 300,000 คน. – สำนักข่าวไทย