กรุงเทพฯ 21 ธ.ค.- กสอ.เตรียม 4 มาตรการมุ่งพัฒนาเอสเอ็มอีไทยให้เข้มแข็งและก้าวสู่อุตสาหกรรมยุค 4.0
นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(กสอ.) เปิดเผยว่า ในปี 2561กสอ. เตรียม 4 เครื่องมือที่จะพัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ประกอบด้วย การนำ IT มาใช้โดยจะให้บริการด้านการพัฒนาระบบข้อมูลและสารสนเทศ, ส่งเสริมการใช้ ระบบ Automation การพัฒนาระบบการผลิตเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิต, หนุนการใช้ Robot ลดการใช้แรงงานในกระบวนการผลิต และมุ่งพัฒนาการรวมกลุ่มอุตสาหกรรมหรือ cluster ซึ่งเป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งที่สำคัญในการต่อยอดของเอสเอ็มอีให้เข้มแข็ง ซึ่งเป็นแผนงานต่อเนื่องและเข้มข้นที่จะสามารถเข้าถึงช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อยได้เพิ่มขึ้นจากปี 2560
ส่วนมาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ในปี 2561 กสอ.เตรียมเงินสนับสนุนภายใต้กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวทางประชารัฐวงเงิน 20,000 ล้านบาท ที่จะดำเนินการต่อเนื่องจากปี 2560 ซึ่งที่ผ่านมาได้สนับสนุนสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการไปแล้วกว่า 6,000 ล้านบาท จำนวนวงเงินเหลืออีกประมาณ 14,000 ล้านบาท แบ่งเป็นวงเงิน 8,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีรายจิ๋วรายเล็กหรือไมโครเอสเอ็มอี ที่มีการประกอบกิจการและขึ้นทะเบียนทางการค้าโดยมีเงื่อนไขการปล่อยกู้ไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยต่ำร้อยละ 1 ต่อปี ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณากำหนดเกณฑ์ ซึ่งกรอบการปล่อยสินเชื่อ คาดว่า จะออกมาเร็วๆนี้
ส่วนวงเงินที่เหลือประมาณ 6,000 ล้านบาทจะปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพเพื่อนำไปปรับปรุงกิจการและพัฒนาธุรกิจอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปีเช่นกัน ในส่วนของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่เข้าร่วมโครงการกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวทางประชารัฐจะได้รับคูปองเสริมแกร่งธุรกิจวงเงิน 30,000 บาทต่อรายเพื่อนำไปใช้บริการด้านการให้คำปรึกษาแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญหรือใช้ในการวิเคราะห์ทดสอบผลิตภัณฑ์จากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในเครือข่ายทั่วประเทศ
สำหรับมาตรการที่ไม่ใช่การเงินในปี 2561 กสอ. เตรียมงบประมาณไว้ 800 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบประจำของกสอ.โดยมีเป้าหมายที่จะนำไปส่งเสริมผู้ประกอบการทั้งเอสเอ็มอีและ OTOP จำนวนกว่า 50,000 ราย คาดว่าจะสามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 10,000 ล้านบาทและยังเตรียมเร่งดำเนินการขับเคลื่อนมาตรการพิเศษ SME 4.0 ภายใต้แผนงานของกระทรวงอุตสาหกรรม 9 มาตรการ ทั้งในด้านการส่งเสริมและช่วยเหลือเอสเอ็มอี เช่น การขยายศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมหรือ ITC จำนวน 23 แห่งทั่วประเทศเพื่อรองรับการให้บริการด้าน Co-Workng Space เครื่องจักรทันสมัย การออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ การบริการปรึกษาเชิงลึก การบูรณาการศูนย์ช่วยเหลือสนับสนุนและช่วยเหลือเอสเอ็มอี 248 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งให้บริการผ่านระบบดิจิตอลที่มีรูปแบบมาตรฐานเดียวกันจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในด้านการพัฒนาธุรกิจในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งจะทำให้เกิดการเชื่อมโยงทางด้านข้อมูลผู้ประกอบการที่จะนำไปสู่การพัฒนาฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของเอสเอ็มอีต่อไปด้วย
ด้านการพัฒนาขีดความสามารถและการปรับเปลี่ยนธุรกิจด้วยกลไกประชารัฐ จะมุ่งเน้นการเชื่อมโยงองค์กรธุรกิจชั้นนำระดับโลกกว่า 20 รายเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงให้เอสเอ็มอีในรูปแบบ Big Brother เพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี มีศักยภาพมากยิ่งขึ้นไปสู่การมีแนวคิดการทำธุรกิจแบบสากล และจะมีการสนับสนุนเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูงรวมทั้งกองทุนแบบให้เปล่าหรือ Angel fund ให้กับกลุ่ม Start Up เพื่อนำไปดำเนินธุรกิจในระยะเริ่มต้น เป็นต้น
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมยังมีมาตรการเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากหรือ Local economy โดยจะมีการเชื่อมโยงการพัฒนาอุตสาหกรรมกับการท่องเที่ยวภายใต้โครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์หรือ CIV ตั้งเป้าเพิ่มหมู่บ้าน CIV อีก 11 แห่ง จากที่นำร่องไปแล้ว 9 แห่งคาดหวังจะให้ครบ 67 หมู่บ้านทั่วประเทศภายใน 5 ปีข้างหน้าคาดว่าจะช่วยผลักดันให้เกิดมูลค่าอุตสาหกรรมชุมชน OTOP ในปี 2565 ได้กว่า 100,000 ล้านบาท
สำหรับในปีที่ผ่านมา 2560 กสอ.พัฒนาผู้ประกอบการ ในภาพรวมโดยสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจรวมกว่า 8 ,000 ล้านบาท โดยเป็นทั้งการสร้างผู้ประกอบการใหม่และการสร้างความเข้มแข็งของผู้ประกอบการเดิมได้กว่า 12,000 ราย และการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตอีกกว่า 4,000 กิจการ-สำนักข่าวไทย