ทำเนียบฯ 19 ธ.ค. – ครม.เห็นชอบแนวทางแก้ปัญหาปาล์ม-ยางพาราตกต่ำ ผลักดันส่งออก ประสาน ก.พลังงานรับซื้อผลิตไบโอดีเซล ประเดิม 1,200 ล้านตั้งกองทุนรักษาเสถียรภาพราคายางพารา
นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแนวทางแก้ปัญหาราคาปาล์มน้ำมันที่มีปัญหาค้างสตอก 500,000 ตัน จึงสั่งให้ปรับลดลง 200,000 ตัน ภายในเดือนธันวาคม 2560 โดยประสานผู้ส่งออกผลักดันการส่งออก 100,000 ตัน และกระทรวงพลังงานรับซื้ออีก 100,000 ตัน เพื่อใช้ในการผลิตไบโอดีเซลอีก 100,000 ตัน ทำให้เป้าหมายสตอกปาล์มน้ำมันต้องลดเหลือ 300,000 ตัน นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังส่งเสริมให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) ช่วยเหลือการปลูกปาล์มคุณภาพ เพื่อป้องกันปาล์มล้นตลาด
นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม.เห็นชอบตามข้อเสนอของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ผ่าน 7 โครงการ เพื่อช่วยเหลือปัญหาราคายางพารา อาทิ การทบทวนมติ ครม.การปล่อยสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยางพารา ในการขยายเครื่องจักร การแปรรูป วงเงิน 15,000 ล้านบาท เหลือ 6,000 ล้านบาท จึงขยายเวลาสินเชื่อออกไปอีกถึงเดือนมิถุนายน 2561 สำหรับการปล่อยสินเชื่อให้เกษตรกรวงเงิน 5,000 ล้านบาท คิดดอกเบี้ยร้อยละ 3.5 รัฐบาลชดเชยให้ร้อยละ 3 แต่เมื่อกองทุนพัฒนาสหกรณ์ช่วยเหลือสมาชิกรายอื่นไม่ได้ ครม.จึงมีมติช่วยเหลือสำหรับผู้ไม่ได้เป็นสมาชิกสหกรณ์ร้อยละ 0.49
รวมทั้งการช่วยเหลือผ่านโครงการสินเชื่อทุนหมุนเวียน เพื่อรวบรวมยางพารา วงเงิน 10,000 ล้านบาท ได้อนุมัติค่าใช้จ่ายด้านประกันสินเชื่อร้อยละ 0.36 เป็นเงินรวม 108 ล้านบาท และสินเชื่อทุนหมุนเวียนยางแห้ง วงเงิน 20,000 ล้านบาท เป้าหมายดูดซับยางพาราให้ได้ 350,000 ตัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 ถึงธันวาคม 2562 รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3 นอกจากนี้ ยังเห็นชอบแนวทางให้ส่วนราชการนำยางพารามาใช้ประโยชน์ตามภารกิจ 200,000 ตัน ใช้งบกลางช่วยเหลือ 12,000 ล้านบาท
ครม.ยังมีคำสั่งดูแลการปลูกยางพาราผ่านโครงการควบคุมปริมาณการผลิต ส่งเสริมเกษตรกรชาวสวนยางโค่นยางเก่า ต้นยางทรุดโทรมเสียหาย หรือต้นยางที่ให้ผลผลิตน้อย ปลูกแทนด้วยพืชสำคัญทางเศรษฐกิจ โดยปรับเปลี่ยนชนิดพืชให้เหมาะสมกับพื้นที่ ตั้งเป้าส่งเสริมปลูกแทนด้วยยางพารา 200,000 ไร่/ปี และพืชชนิดอื่นอีก 200,000 ไร่/ปี รวมเป็น 400,000 ไร่ ขณะที่กองทุนพัฒนายางส่งเสริมลดพื้นที่ปลูกยาง 120,000 ไร่ ใช้งบกลางดูแล 303 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรโดยตรง หากรายใดลดหรือเลิกปลูกยางพาราได้รับการชดเชยจากรัฐรายละ 4,000 บาท และเห็นชอบหลักการตั้งกองทุนรักษาเสถียรภาพราคายางพารา จากราคาเป้าหมาย 65 บาทต่อกิโลกรัม ใช้เงินเริ่มต้น 1,200 ล้านบาท. – สำนักข่าวไทย