กรุงเทพฯ 16 ธ.ค.-นายกรัฐมนตรีขอให้ชาวสวนยางพารา-ปาล์ม ใจเย็นๆกำลังเร่งแก้ปัญหาราคาตกต่ำ เตรียมเสนอ ครม.ออกสินเชื่อใหม่ 2 หมื่นล้านบาทดูดซับผลผลิตยางฯ
อัดฉีด 4,000 บาทให้ชาวสวนยาง เร่งรัดโค่นต้นยาง
สั่งภาครัฐหยุดกรีด 3 เดือน
คาดว่าจะลดปริมาณผลผลิตยางแห้งประมาณ 1 แสนตันรวมทั้ง
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา
สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” วันศุกร์ที่ 15 ธันวาคม 2560 ว่า ดัชนีรายได้เกษตรกรปี 2560 มีทิศทางที่แจ่มใส
โดยขยายตัวเพิ่มขึ้น ราวร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับปี 2559 จากผลผลิตสินค้าเกษตรขยายตัว อาทิ ข้าวนาปรัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
อ้อยโรงงาน สับปะรดโรงงาน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ผลไม้ต่างๆ และ กุ้งทะเลเพาะเลี้ยง เป็นต้น
ส่วนเรื่องยางพารากับเรื่องปาล์มน้ำมันก็กำลังแก้ปัญหา เนื่องจากปริมาณมีจำนวนมากแล้วราคาผลผลิตก็ตกต่ำ
“เรื่องยางพารา กับปาล์มน้ำมัน กำลังดำเนินการอยู่
ก็ขอให้พี่น้องใจเย็นๆ นิดหนึ่ง
ผมเข้าใจความเดือดร้อนแต่การแก้ต้องหาวิธีการแก้ที่เหมาะสม” นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายกฤษฎา บุญราช
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า วานนี้ (15 ธ.ค.) คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ซึ่งมี นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เห็นชอบการแก้ไขปัญหายางฯครบวงจร และเห็นชอบ โครงการสนับสนุนสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง
(ยางแห้ง) วงเงิน 20,000 ล้านบาทเพื่อช่วยดูดซับปริมาณยางออกจากระบบประมาณร้อยละ 11 ของผลผลิตยางแห้ง 350,000 ตันจากผลผลิตทั้งปี ประมาณ 3.2 ล้านตัน (ส่วนเนื้อยางแห้ง) รัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยในอัตราตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินร้อยละ 3 ต่อปี (ไม่เกิน 600 ล้านบาท) ตั้งแต่เดือนมกราคม 2561 ถึงเดือนธันวาคม 2562 และมีระยะเวลาการชำระเงินคืนเงินกู้ไม่เกิน 1 ปีนับจากวันทำสัญญาต่อปี
กนย. ยัง.ห็นชอบให้เปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง
วงเงิน 15,000 ล้านบาท
เพื่อใช้ในการขยายกำลังการผลิต/ปรับเปลี่ยนเครื่องจักรการผลิต ตาม เงื่อนไขเดิม ขณะนี้มีผู้สมัคร
เพียง 29 ราย
อนุมัติสินเชื่อแล้ว 16 ราย วงเงินประมาณ 8.887 พันล้านบาท ส่งผลการใช้ยางเพิ่มขึ้น 35,550 ตัน/ปี
“นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้หน่วยงานภาครัฐใช้ยางพาราภายในประเทศเพิ่มขึ้น
พร้อมเตรียมให้ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) รับซื้อผลผลิตยาง ได้แก่
ยางแผ่นดิบคุณภาพ 3 น้ำยางสด ยางก้อนถ้วย หรือยางชนิดอื่นๆ ประมาณ 2 แสนตันในช่วงเดือนธันวาคม 2560 – 30
เมษายน 2561 เพื่อไปใช้งานหน่วยงานภาครัฐที่แจ้งความประสงค์
เช่น การทำถนนลาดยางมะตอยผสมยางพาราชนิดผสมร้อน (Para Asphaltic
Concrete) ชั้นพื้นทางของถนน
(Based) Para rubber polymer soil cement ยางปูพื้นแบบ Block สนามฟุตซอล หรือ สนามเด็กเล่น ยางปูสระน้ำ
และอื่นๆ เป็นต้น” นายกฤษฎา กล่าว
นายธีธัช
สุขสะอาด ผู้ว่า กยท.กล่าวด้วยว่า ที่ประชุม กนย. เห็นชอบ เร่งรัดการโค่นยางมากยิ่งขึ้น ไปปลูกแทนด้วยไม้ยืนต้นชนิดอื่น ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ จำนวน 2 แสนไร่ โดยจะได้ปัจจัยการผลิตให้ชาวสวนยางรายละ 4,000 บาท ในช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม 2561 น และสนับสนุนให้ชาวสวนยางปลูกแทนด้วยยางพันธุ์ดี
เน้นการปลูกแทนแบบผสมผสาน ตาม พ.ร.บ.กยท.พ.ศ.2558 อีก 2แสนไร่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิต
ควบคู่กับลดปริมาณผลผลิตคาดว่า จะลดปริมาณผลผลิตไม่น้อยกว่า 9 หมื่นตัน และ ยังให้หน่วยงานภาครัฐที่มีสวนยาง
ประมาณ 1.21 แสนไร่
ทั้ง กยท. กรมวิชาการเกษตร และ ออป. ร่วมกันหยุดกรีดยาง จะเป็นอีกแนวทางหนึ่งช่วยลดปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดได้ไม่น้อยกว่า 6.78 พันตันในระยะเวลา 3 เดือนนี้ -สำนักข่าวไทย