ปปง.14 ธ.ค.-คกก.ธุรกรรมฯ ของ ปปง.มีมติให้ยึดอายัดทรัพย์สินผู้กระทำความผิด 3 คดีดัง ‘บริษัทโอเอเลี่ยงภาษี-ฉ้อโกงสถาบันการเงิน-แก๊งค์คอลเซ็นเตอร์’ รวมกว่า 4 พันล้านบาท
พล.ต.ต.รมย์สิทธิ์ วีริยาสรร รักษาราชการแทนเลขาธิการ ปปง. กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่23/2560 เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.2560 คณะกรรมการธุรกรรมได้มีมติให้ยึดอายัดทรัพย์สินของผู้กระทำความผิดในคดีสำคัญที่อยู่ในความสนใจของประชาชน
1.คดีบริษัท โอเอ ทรานสปอร์ต (ทัวร์ศูนย์เหรียญ) สืบเนื่องจากสำนักงาน ปปง.ได้รับรายงานจากกรมสรรพากร กรณีนายธงชัย กับพวก กระทำความผิดตามมาตรา 37 แห่งประมวลรัษฎากร กล่าวคือคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองความผิดทางภาษีอากรที่เข้าข่ายความผิดมูลฐานตามกฎหมาย ปปง. ได้ให้ความเห็นชอบแก่อธิบดีกรมสรรพากรในการส่งข้อมูลให้สำนักงาน ปปง.เพื่อดำเนินการกับนายธงชัย ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรหรือนำส่งภาษีอากร โดยหลีกเลี่ยงหรือฉ้อโกงตั้งแต่ 10 ล้านบาทต่อปีภาษีขึ้นไป และได้กระทำในลักษณะที่เป็นกระบวนการหรือเป็นเครือข่าย โดยสร้างธุรกรรมอันเป็นเท็จหรือปกปิดเงินได้พึงประเมินหรือรายได้เพื่อหลีกเลี่ยงหรือฉ้อโกงภาษีอากรและมีพฤติกรรมปกปิดหรือซ่อนเร้นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเพื่อมิให้ติดตามทรัพย์สินนั้นได้ โดยได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นเท็จ ตั้งแต่ปี 2554-2559 จนเป็นเหตุให้กรมสรรพากรได้รับความเสียหาย ประมาณ 7,788,362,147.89 บาท การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามมาตรา 37 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร และเป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542
คณะกรรมการธุรกรรม มีมติให้อายัดทรัพย์สินของนายธงชัย โรจน์รุ่งรังสี กับพวก จำนวน125 รายการ รวมจำนวน 4,246,569,770 บาท พร้อมดอกผล ไว้ชั่วคราว มีกำหนดไม่เกิน 90 วัน นับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการธุรกรรมมีมติ
2.คดีฉ้อโกงสถาบันการเงินของ บริษัท เอพีเอส คล็อค ซีสเต็มส์ สืบเนื่องจากสำนักงาน ปปง.ได้รับรายงานจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ สืบเนื่องจาก บริษัท กับพวก ได้ยื่นขอสินเชื่อจากธนาคารเพื่อการซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศและขอให้โอนเงินสินเชื่อไปต่างประเทศ โดยอ้างว่าเป็นการชำระค่าซื้อขายสินค้า ต่อมาธนาคารพบว่าบริษัทผู้ขายสินค้าและบริษัทผู้ชำระเงินค่าสินค้า มีกรรมการผู้มีอำนาจเป็นคนเดียวกัน ซึ่งไม่ได้เป็นคู่ค้าของบริษัท ตามที่ได้แจ้งไว้กับธนาคาร และจากการตรวจสอบพบว่ามีการยื่นเอกสารปลอมในการขอสินเชื่อ จนเป็นเหตุให้ธนาคารหลายธนาคารได้รับความเสียหาย โดยมีการหลอกลวงธนาคารให้ปล่อยสินเชื่อมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2554-2556 รวมความเสียหายทั้งสิ้นประมาณ 3,400 ล้านบาท การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการฉ้อโกงอันเป็นปกติธุระ ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 (18)
คณะกรรมการธุรกรรม ได้มีมติให้อายัดทรัพย์สินของบริษัท เอพีเอส คล็อค ซีสเต็มส์ จำกัด กับพวก จำนวน 82 รายการ รวมจำนวน 62,183,563.07 บาท พร้อมดอกผล ไว้ชั่วคราว มีกำหนดไม่เกิน 90 วัน นับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการธุรกรรมมีมติ
3. คดีแก๊งคอลเซ็นเตอร์ สืบเนื่องจากกรณีที่สำนักงาน ปปง. ได้รับการประสานจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่ามีกลุ่มบุคคลมีพฤติการณ์เป็นแกงค์คอลเซ็นเตอร์ ใช้โทรศัพท์หลอกลวงประชาชนในพื้นที่ภาค 6 จำนวน 13 ราย มูลค่าความเสียหายประมาณ 19,800,000 บาท ซึ่งต่อมาพบว่าผู้กระทำความผิดมีการทำงานเป็นเครือข่ายองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติทั้งในประเทศไทย จีน และไต้หวัน จึงส่งเรื่องให้สำนักงาน ปปง. พิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง นั้น
สำนักงาน ปปง. ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ทำการสืบสวนขยายผล โดยต่อมาคณะกรรมการธุรกรรมได้มอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดของนายทวีศักดิ์ สุจริตวัฒนะนนท์กับพวก ซึ่งร่วมอยู่ในขบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ดังกล่าว ในวันที่13 ธันวาคม 2560 คณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 23/2560 ได้มีมติให้อายัดทรัพย์สินประเภทเงินฝากในบัญชีธนาคารของนายทวีศักดิ์ สุจริตวัฒนะนนท์กับพวก รวม 120 บัญชี มูลค่าประมาณ 53 ล้านบาท
รักษาราชการแทนเลขาธิการ ปปง.กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงาน ปปง.จะทำการสืบสวนขยายผลและดำเนินการกับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดของเครือข่ายแกงค์คอลเซ็นเตอร์ เพื่อติดตามทรัพย์สินคืนสู่ประชาชนผู้เสียหายและแผ่นดินต่อไป บนปรัชญาการทำงานที่ว่า “สิ่งใดที่เป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนผู้สุจริตต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนทุกช่องทาง…ทรัพย์สินใดเป็นของแผ่นดิน ทรัพย์สินนั้นต้องกลับคืนแผ่นดินโดยไม่มีเงื่อนไข ด้วยกฎหมายฟอกเงิน” .-สำนักข่าวไทย