ก.ศึกษาฯ 13 ธ.ค.-รมว.ศึกษาฯ เตรียมเสนอ คสช.ปรับเเก้คำสั่งที่19/60 ภายในสัปดาห์นี้ ลดความขัดเเย้งระหว่างศึกษาธิการจังหวัดและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการเเก้ปัญหาความขัดเเย้งระหว่าง เขตพื้นที่การศึกษาเเละศึกษาธิการจังหวัด จนมีการเรียกร้องให้ยกเลิกคำสั่ง คสช.ที่ 19/2560 เรื่องการมอบอำนาจบรรจุแต่งตั้งให้ศึกษาธิการจังหวัด ว่า วานนี้ (12 ธ.ค.)มีการประชุมเพื่อลดความขัดเเย้งระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งนายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการได้สรุปผลการประชุมที่ให้มีการปรับเเก้คำสั่ง คสช.เเละส่งหนังสือให้แก้ไขคำสั่งคสช.ดังกล่าวมาให้พิจารณาเเล้ว ซึ่งอยู่ระหว่างการเตรียมขอปรับเเก้คำสั่งคสช. ซึ่งคาดว่าจะส่งให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งดูเเลด้านกฎหมายของ คสช.ตรวจสอบภายในสัปดาห์นี้ ก่อนที่จะส่งให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.พิจารณาต่อไป ซึ่งการจะเเก้คำสั่งหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับมติของคสช.
นพ.ธีระเกียรติ กล่าวต่อว่า ความขัดเเย้งที่เกิดขึ้น ควรกลับมาถามตัวเองว่า ใครได้ประโยชน์ ประชาชน ครูเเละนักเรียนก็ไม่ได้ประโยชน์จากความขัดเเย้งนี้ เเละยิ่งทำลายหน่วยงานในกระทรวง จึงต้องเเก้ปัญหา เเละอยากให้มองว่าผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาเเละกศจ.ส่วนใหญ่ไม่ได้ทะเลาะกัน มีจำนวนน้อยที่ไม่พอใจ ถึงอย่างไรขอให้เคลื่อนไหวตามขอบเขตของกฎหมาย ให้คำนึงถึงประโยชน์ของครูเเละเด็กให้มากที่สุด ซึ่งจากการหารือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อวานนี้ถือว่าเป็นที่น่าพอใจ
ด้านนายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า ความขัดแย้งในคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่ง ชาติ (คสช.) ที่19/2560ในข้อที่13 ที่กำหนดให้อำนาจการบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในจังหวัดและกรุงเทพฯ ตามมาตรา53(3)และ(4)แห่งพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547เป็นของศธจ.โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.)จากเดิมเป็นอำนาจของสพท. โดยมาตรา 53(3) เป็นอำนาจของผู้อำนวยการโรงเรียน เเต่เพื่อแก้ไขความขัดแย้งระหว่างศธจ.และผอ.สพท. จึงมีการระดมจาก2 หน่วยงาน โดยได้ข้อสรุปว่า จะมีการเสนอแก้ไขคำสั่งคสช.ที่ 19/2560 โดยให้ ศธจ.เป็นผู้แทน ศธ.ทำหน้าที่ประสานงาน บูรณาการการศึกษาในระดับจังหวัด ซึ่งได้มีการเสนอตั้งคณะกรรมการ 2 ชุด คือคณะกรรมการบูรณาการด้านการศึกษาและคณะกรรมการการบริหารงานบุคคล ทั้ง2 ชุดมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ศธจ.เป็นเลขานุการ
สำหรับคณะกรรมการบริหารงานบุคคล จะมี ผอ.สพท.ในจังหวัดทุกคนร่วมเป็นกรรมการ พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนจากส่วนต่างๆ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.) อยู่ระหว่างพิจารณาข้อกฎหมาย กำหนดสัดส่วนผู้แทนให้ชัดเจน
ทั้งนี้ การบริหารงานบุคคลในส่วนของอำนาจตามมาตรา 53 ให้ผอ.สพท. เป็นผู้ลงนามตามมติกศจ. ส่วนผอ.ร.ร.ลงนามตามมติกศจ. ซึ่ง ผอ.รร.มีอำนาจลงนามอนุมัติเรื่องที่เกี่ยวข้องกับครู ที่ไม่มีวิทยาฐานะ ตั้งแต่การแต่งตั้ง เลื่อนขั้นเงินเดือน หรืออื่นๆที่เป็นมติของกศจ.ส่วนครูที่มีวิทยฐานะแล้ว เป็นอำนาจของ ผอ.สพท.พิจารณา ขณะที่ในส่วนของ กศจ.มีหน้าที่พิจารณาอนุมัติตามที่ผอ.สพท.เสนอ ซึ่งตรงนี้มีการคานอำนาจ กรณีที่ กศจ.เห็นเรื่องที่ สพท.เสนอมาไม่เป็นไปตามขั้นตอนกฎหมาย กศจ.ก็จะไม่อนุมัติหรือขอให้ชี้แจงเพิ่มเติม เป็นการถ่วงดุลการใช้อำนาจระหว่างผอ.สพท. และกศจ.การพิจารณาเรื่องการบริหารงานบุคคลจะจบสุดท้ายที่คณะกรรมการชุดนี้ .-สำนักข่าวไทย