กรุงเทพฯ 13 ธ.ค.- ปภ.รายงานยังพบ 5 จังหวัดภาคใต้ประสบปัญหาน้ำท่วม เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัย
นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้จากอิทธิพลมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน – 13 ธันวาคม 2560 ทำให้เกิดน้ำไหลหลากในพื้นที่ 11 จังหวัด ได้แก่ ปัตตานี ยะลา สงขลา พัทลุง ตรัง สตูล ชุมพร นราธิวาส นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และกระบี่ รวม 121 อำเภอ 823 ตำบล 5,983 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 515,406 ครัวเรือน 1,654,600 คน เสียชีวิต 29 ราย ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว 6 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ สตูล ยะลา นราธิวาส ชุมพร และปัตตานี
นายชยพล กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยใน 5 จังหวัด รวม 34 อำเภอ 227 ตำบล 1,759 หมู่บ้าน 158,284 ครัวเรือน 475,371 คน ประกอบด้วย ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา 2 จังหวัด ได้แก่ สงขลา ยังคงมีน้ำท่วมในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอสทิงพระ อำเภอสิงหนคร อำเภอกระแสสินธุ์ อำเภอนางกล่ำ และอำเภอระโนด รวม 43 ตำบล 282 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 40,786 ครัวเรือน 114,844 คน พัทลุง เกิดน้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองพัทลุง อำเภอควนขนุน อำเภอปากพะยูน อำเภอเขาชัยสน และอำเภอบางแก้ว รวม 42 ตำบล 210 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 43,645 ครัวเรือน 130,832 คน ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันตก 1 จังหวัด ได้แก่ ตรัง ยังคงมีน้ำท่วมในพื้นที่อำเภอกันตัง รวม 2 ตำบล 10 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับ 160 ครัวเรือน 1,101 คน ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออก 1 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช ยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่ 17 อำเภอ ได้แก่ อำเภอชะอวด อำเภอบางขัน อำเภอเชียรใหญ่ อำเภอ จุฬาภรณ์ อำเภอทุ่งสง อำเภอปากพนัง อำเภอสิชล อำเภอฉวาง อำเภอนบพิตำ อำเภอหัวไทร อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอพรหมคีรี อำเภอทุ่งใหญ่ อำเภอช้างกลาง อำเภอร่อนพิบูลย์ อำเภอท่าศาลา และอำเภอถ้ำพรรณรา รวม 100 ตำบล 1,005 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 68,441 ครัวเรือน 207,499 คน ลุ่มน้ำตาปี 1 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี ยังคงมีน้ำท่วมในพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอ พระแสง อำเภอเวียงสระ อำเภอเคียนซา อำเภอบ้านนาสาร อำเภอบ้านนาเดิม และอำเภอพุนพิน รวม 40 ตำบล 252 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 5,252 ครัวเรือน 21,095 คน
นายชยพล กล่าวว่า ปภ.ได้ประสานจังหวัด หน่วยทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเต็มกำลัง โดยแจกจ่ายถุงยังชีพ เครื่องอุปโภคบริโภค และน้ำดื่ม จัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราวรองรับผู้อพยพ พร้อมระดมทรัพยากรและเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย จากศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต ทั้งรถผลิตน้ำดื่ม รถไฟฟ้าส่องสว่าง รถบรรทุก รถสุขาเคลื่อนที่ เรือท้องแบน และเครื่องสูบน้ำ สนับสนุนการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและช่วยเหลือผู้ประสบภัย ตลอดจนประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ติดตั้งเครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำเพิ่มเติม เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่.-สำนักข่าวไทย