กรุงเทพฯ 4 ธ.ค. – กรมชลประทานสรุปสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ หลายพื้นที่เข้าสู่ภาวะปกติ เร่งระบายน้ำอย่างต่อเนื่อง
นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า เนื่องจากหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณชายฝั่งประเทศมาเลเซีย ทำให้ภาคใต้ตอนล่างยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางพื้นที่ ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำหลายจังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
สำหรับจังหวัดสุราษฎร์ธานี ระดับน้ำในแม่น้ำตาปี บริเวณสถานีวัดน้ำ X-37A บ.ย่านดินแดง อ.พระแสง ยังคงมีน้ำเอ่อล้นตลิ่งประมาณ 55 เซนติเมตร และที่ บ.เคียนซา อ.เคียนซา มีน้ำเอ่อล้นตลิ่งประมาณ 12 เซนติเมตร ส่วนพื้นที่อื่น ๆ มีฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลางกระจายทั่วทั้งจังหวัด โครงการชลประทานสุราษฎร์ธานี ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 3 เครื่อง และติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ 4 เครื่อง บริเวณประตูระบายน้ำคลองท่าโพธิ์ และประตูระบายน้ำคลองไชยา พร้อมกับนำรถแบ็คโฮดำเนินการกำจัดเศษขยะและสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อช่วยเร่งการระบายน้ำให้ไหลลงสู่ทะเลให้เร็วที่สุด คาดว่าสถานการณ์จะคลี่คลายภายใน 2-3 วัน หากไม่มีฝนตกเพิ่มในพื้นที่
จังหวัดนครศรีธรรมราช มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 11 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง อ.ลานสกา อ.ร่อนพิบูลย์ อ.ทุ่งสง อ.นาบอน อ.ชะอวด อ.เชียรใหญ่ อ.หัวไทร อ.ทุ่งใหญ่ อ.พระพรหม และ อ.ปากพนัง กรมชลประทาน ได้เดินเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่และเครืองผลักดันน้ำเพื่อเร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำสายหลักอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน(4 ธ.ค.60) สถานการณ์เขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราชเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ระดับน้ำในคลองท่าดีที่สถานีวัดน้ำ X.200 อ.ลานสกา ซึ่งเป็นต้นน้ำคลองท่าดี ยังต่ำกว่าตลิ่ง 1.63 เมตร ส่วนพื้นที่ตอนล่างบริเวณสถานีวัดน้ำ X.203 อ.เมืองนครศรีธรรมราช ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 42 เซนติเมตร แนวโน้มระดับน้ำในคลองท่าดีเพิ่มขึ้นสลับลดลงตามจังหวะปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่ ในส่วนพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังได้เร่งระบายน้ำผ่านคลองชะอวด-แพรกเมือง โดยประตูระบายน้ำคลองชะอวด-แพรกเมือง เพื่อลดผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำที่ยังคงมีน้ำท่วมขัง สรุปการสนับสนุนเครื่องจักร เครื่องมือต่างๆ ในเขต จ.นครศรีธรรมราช กรมชลประทาน ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 51 เครื่อง และเครื่องผลักดันน้ำอีก 26 เครื่อง เพื่อสูบและระบายน้ำออกจากพื้นที่ต่าง ๆ เร็วที่สุด
จังหวัดตรัง ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ 4 อำเภอ ได้แก่ อ.นาโยง อ.เมือง อ.วังวิเศษ และอ.กันตัง ระดับน้ำในแม่น้ำตรัง ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ส่วนที่บริเวณสถานีวัดน้ำ X.234 บ.ป่าหมาก อ.เมือง มีน้ำล้นตลิ่ง 50 เซนติเมตร แนวโน้มลดลง สำหรับกรณีที่เกิดคันกั้นน้ำแม่น้ำตรังที่ขาด 2 จุด บริเวณ ต.บางรัก อ.เมืองตรัง 1 จุด และอีกจุดบริเวณ ต.หนองตรุด อ.เมืองตรัง นั้น ปริมาณน้ำได้ไหลเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำในเขตต.บางรัก ต.ควนปริง อ.เมืองตรัง ก่อนจะไหลลงสู่ทะเลอันดามัน โครงการชลประทานตรัง ได้เตรียมพร้อมเครื่องสูบน้ำ จำนวน 4 เครื่อง เมื่อระดับน้ำในแม่น้ำตรังลดลงต่ำกว่าตลิ่งจะดำเนินการสูบน้ำ เพื่อเร่งระบายน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำต่อไป
จังหวัดพัทลุง ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่การเกษตรและบ้านเรือนราษฎร 4 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง อ.ศรีนครินทร์ อ.ศรีบรรพต และอ.ควนขนุน แนวโน้มระดับน้ำเริ่มลดลง กรมชลประทาน โดยโครงการชลประทานพัทลุง ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 10 เครื่อง ในเขตเทศบาลเมืองพัทลุง อีก 10 เครื่องติดตั้งในเขตเทศบาลตำบลพนางตุง อ.ควนขนุน และยังมีเครื่องผลักดันน้ำอีก 10 เครื่อง เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ให้เร็วที่สุด
จังหวัดสงขลา ฝนตกหนักต่อเนื่องช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้เกิดน้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ 28 อำเภอ แม้ว่าปัจจุบันปริมาณฝนจะลดน้อยลงแล้ง แต่ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำบางแห่ง กรมชลประทน ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำตามจุดต่างๆ รวม 33 เครื่อง และเครื่องผลักดันน้ำอีก 16 เครื่อง เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขังให้เร็วที่สุด แนวโน้มสถานการณ์น้ำเริ่มลดลง หากไม่มีฝนตกหนักลงมาเพิ่ม คาดว่าสถานการณ์น้ำจะคลี่คลายและเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 4 วัน
ส่วนพื้นที่ อ.หาดใหญ่ ระดับน้ำในคลองอู่ตะเภาบริเวณสถานีวัดน้ำ X.90 บ.บางศาลา อ.คลองหอยโข่ง ที่อยู่ทางตอนบน ระดับน้ำยังต่ำกว่าตลิ่ง 1.12 เมตร แนวโน้มลดลง ทั้งนี้ หากปริมาณน้ำในคลองอู่ตะเภามีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์ 1,000 ลบ.ม./วินาที กรมชลประทาน จะใช้คลองระบายน้ำ ร.1 แบ่งรับน้ำเพื่อลดปริมาณน้ำในคลองอู่ตะเภาที่จะไหลผ่านลงสู่ตัวเมืองหาดใหญ่ ได้กว่า 815 ลบ.ม./วินาที ก่อนจะเร่งระบายลงสู่ทะเลสาบสงขลาต่อไป สำหรับการเตรียมความพร้อมการช่วยเหลือ กรมชลประทาน ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 56 เครื่อง และเครื่องผลักดันน้ำอีก 16 เครื่อง เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่หากเกิดน้ำท่วมขัง
จังหวัดสตูล ปริมาณฝนลดน้อยลงส่งผลให้พื้นที่ลุ่มต่ำและพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากระดับน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้สถานการณ์ส่วนใหญ่คลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติทุกพื้นที่แล้ว โครงการชลประทานสตูล ได้เตรียมพร้อมเครื่องสูบน้ำ 4 เครื่อง ไว้รองรับหากเกิดฝนตกหนักลงมาอีกในระยะนี้ จังหวัดปัตตานี ปริมาณฝนลดน้อยลง ยังคงมีพื้นที่ 7 อำเภอได้รับผลกระทบน้ำท่วมขัง ได้แก่ อ.หนองจิก อ.ยะรัง อ.สายบุรี อ.โคกโพธิ์ อ.ไม้แก่น อ.ปะนาเระ และอ.เมืองปัตตานี ระดับน้ำในแม่น้ำปัตตานี ที่สถานีวัดน้ำ X.10A บริเวณสะพานเดชานุชิต อ.เมือง สูงกว่าตลิ่ง 2 เซนติเมตร แนวโน้มระดับน้ำในแม่น้ำปัตตานีลดลง หากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่มเติม
จังหวัดยะลา ปริมาณฝนตกลดลง ทำให้สถานการณ์น้ำท่วมเริ่มคลี่คลาย แต่ยังคงมีพื้นที่ลุ่มต่ำ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง อ.รามัน และอ.ยะหา ที่มีน้ำล้นตลิ่งและท่วมขัง ระดับน้ำในแม่น้ำปัตตานีบริเวณสถานีวัดน้ำ X.40A อ.เมืองยะลา ต่ำกว่าตลิ่ง 2.20 เมตร แนวโน้มลดลง ส่วนที่สถานีวัดน้ำ X.40B อ.เมืองยะลา ระดับน้ำได้ลดต่ำกว่าตลิ่งแล้ว 14 เซนติเมตร แนวโน้มลดลงเช่นกัน กรมชลประทาน โดยโครงการชลประทานยะลา ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 2 เครื่อง บริเวณฟาร์มตัวอย่างวังพญาท่าธง อ.รามัน เพื่อช่วยเร่งระบายน้ำหากเกิดน้ำท่วมขังแล้ว
จังหวัดนราธิวาส ปัจจุบันยังคงมีพื้นที่ประสบอุทกภัย 9 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง อ.จะแนะ อ.ยี่งอ อ.บาเจาะ อ.สุคิริน อ.สุไหงโก-ลก อ.สุไหงปาดี และอ.แว้ง ระดับน้ำในแม่น้ำโก-ลกที่สถานีวัดน้ำ X.119A บริเวณสะพานลันตู ในเขตเทศบาลเมือง สุไหงโก-ลก สูงกว่าตลิ่ง 1.47 เมตร มีแนวโน้มลดลง คาดว่าจะต่ำกว่าตลิ่งภายใน 1-2 วันนี้ กรมชลประทาน ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 12 เครื่องตามจุดต่าง ๆ เพื่อเร่งระบายน้ำในพื้นที่ที่ท่วมขังผ่านคลองระบายน้ำต่าง ๆ 19 สาย เพื่อให้ไหลลงสู่ทะเลเร็วขึ้น.-สำนักข่าวไทย