ยธ.28 พ.ย.-ดีเอสไอพร้อมให้ข้อมูลขั้นตอนการช่วยเหลือครูจอมทรัพย์ ปัดไม่ใช่คดีพิเศษ ไม่เคยคุ้มครองพยาน สัปดาห์หน้าทยอยเรียก 9 ข้าราชการดีเอสไอ กองทุนยุติธรรม และยุติธรรมจังหวัดนครพนมให้ข้อเท็จจริง
พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวถึงกรณีการรื้อฟื้นคดีครูจอมทรัพย์ ว่า ดีเอสไอไม่ได้รับผิดชอบโดยตรง เป็นการดำเนินการโดยศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของกระทรวงยุติธรรมซึ่งมีการขอตัวข้าราชการดีเอสไอไปช่วยราชการ จำนวน 9 คน ไปช่วยในส่วนของงานอำนวยการยุติธรรมกับรองปลัดกระทรวงยุติธรรม หากตำรวจมีข้อสงสัย พร้อมชี้แจง และให้ความร่วมมือในการตรวจสอบทุกด้านอย่างตรงไปตรงมา
ในส่วนของการทำงานเป็นเพียงการเข้าไปช่วยในส่วนของการอำนวยการความยุติธรรมให้กับประชาชน ไม่มีการเบิกจ่ายงบประมาณจากดีเอสไอโดยเฉพาะการคุ้มครองพยาน ซึ่งกฎหมายของดีเอสไอมีเงื่อนไข ตัองรับเป็นคดีพิเศษ หรือมีการร้องขอให้คุ้มครองพยาน กรณีดังกล่าวที่ดีเอสไอไม่ได้รับเป็นคดีพิเศษจึงไม่เข้าข่ายความคุ้มครองพยานสำหรับการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการดีเอสไอทั้ง 9 คนนั้นได้รายงานให้กระทรวงยุติธรรมรับทราบแล้ว
ด้านนายวัลลภ นาคบัว ผู้อำนวยการสำนักกิจการยุติธรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการรับรื้อฟื้นคดีให้กับนางจอมทรัพย์ ศรีบุญหอม หรือแสนเมืองโคตร อดีตข้าราชการครู จังหวัดสกลนคร กล่าวว่า หลังได้รับการแต่งตั้งได้ประชุมไปแล้ว 1ครั้งเพื่อกำหนดแนวทางการตรวจสอบใน 4 ประเด็น คือ ข้าราชการของกระทรวงยุติธรรมหน่วยงานใดเข้าไปเกี่ยวข้องบ้าง และเกี่ยวข้องอย่างไร ,เพื่อนำไปปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องในการหรือฟื้นคดี ซึ่งจะรายงานผลข้อสรุปและข้อเสนอแนะ ให้ปลัดกระทรวงยุติธรรมในสัปดาห์หน้า และได้ส่งหนังสือให้อธิบดีดีเอสไอและสำนักงานกองทุนยุติธรรมยุติธรรมจังหวัดนครพนมให้รวบรวมข้อเท็จจริงเบื้องต้นและส่งตัวเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในขั้นตอนต่างๆเข้าให้ข้อมูลต่อคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยคณะกรรมการชุดนี้จะตรวจสอบให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน
อย่างไรก็ตามยืนยันว่าไม่ได้เป็นการตรวจสอบว่าใครถูกใครผิดแต่ ต้องการปรับปรุงระบบงาน การรื้อฟื้นคดีอาญาเนื่องจากสถิติของศาลฎีกาหลังมีกฎหมายให้รื้อฟื้นคดีอาญายังไม่เคยมีการรื้อฟื้นคดีได้เลย จึงเห็นว่าเป็นเรื่องยาก จำเป็นต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบทั้งประเด็นข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงที่ผ่านมาการรับเรื่องร้องทุกข์กระจัดกระจายไปในหลายส่วน หลังจากนี้ต้องมารวมศูนย์ ที่เดียวที่ศูนย์บริการร่วมแล้วกระจายไปให้หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงตรวจสอบกรณีร้องหรือฟื้นคดีต้องพิจารณาร่วมกันในรูปคณะกรรมการ เพราะที่ผ่านมาเป็นการดำเนินการเพียงลำพัง
“การรื้อฟื้นคดีในรูปเรื่องมันยากอยู่แล้ว เลขาธิการศาลก็แจ้งสถิติว่าตั้งแต่มีกฎหมายในการรื้อฟื้นคดีไม่เคยเกิดขึ้นเลย ยากหรือไม่ยากไม่ได้อยู่ที่กระทรวงยุติธรรม แต่เมื่อเป็นสิทธิ์ในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของประชาชนก็ต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบและรัดกุม ซึ่งที่ผ่านมายังไม่เคยจัดวางระบบ ที่ชัดเจน เพื่อให้เกิดการบูรณาการร่วมกันไม่ใช่ร้องกันมา3-4 หน่วยแล้วต่างคนต่างทำ สิ่งที่เกิดขึ้นคือมีคนเดือดร้อนเข้ามาขอให้กระทรวงยุติธรรมช่วยเหลือตรวจสอบ ประเด็นคือได้ข้อเท็จจริงแค่ไหนอย่างไรจึงควรนำไปสู่การริ้อฟื้นคดี” อธิบดีดีเอสไอ กล่าว .-สำนักข่าวไทย