กระทรวงคลัง 27 พ.ย. – คลังส่งผู้ตรวจลงพื้นที่เร่งรัดการเบิกจ่าย พร้อมยกร่างกฎหมายภาษีสินค้าออนไลน์ ยอมรับเป็นปัญหาเกิดขึ้นหลายประเทศจากธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ จึงต้องร่วมมือระดับเวทีโลก
นายยุทธนา หยิมการุญ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง กล่าวภายหลังประชุมจัดทำแผนการตรวจราชการกระทรวงการคลัง ว่า เพื่อให้การเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2561 เป็นไปตามเป้าหมายร้อยละ 96 ของงบประมาณรายจ่ายรวม 2.9 ล้านล้านบาท งบลงทุนเป้าหมายเบิกจ่ายร้อยละ 88 งบประจำวงเงิน 659,924 ล้านบาท ต้องเบิกจ่ายภายในไตรมาส 1 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของวงเงินจัดสรร ด้านการฝึกอบรม ส่วนงบลงทุน 2.15 ล้านล้านบาท รายจ่ายลงทุนปีเดียวต้องก่อหนี้ผูกพันให้เสร็จไตรมาส 1 การจัดหาจากต่างประเทศหรือลงทุนลักษณะพิเศษต้องให้เสร็จไตรมาส 2
นอกจากนี้ ยังต้องประสานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ติดตามการเบิกจ่ายเงินลงทุนขนาดเล็ก หลังจากรัฐบาลมุ่งเน้นให้ อปท.เบิกจ่ายการลงทุนในภูมิภาค จึงตั้งทีมส่วนกลาง 63 ทีม และส่วนภูมิภาคระดับจังหวัด 76 จังหวัด เพื่อรายงานผลการเบิกจ่าย นอกจากนี้ ยังต้องติดตามการจัดเก็บภาษี โดยเฉพาะธุรกิจบันเทิงกลางคืนในจังหวัดเมืองท่องเที่ยวสำคัญ เช่น เชียงใหม่ หาดใหญ่ ภูเก็ต นับว่าเบื้องต้นได้ภาษีประเภทต่าง ๆ จากที่เคยรั่วไหลกลับเข้ามาได้สูงขึ้น เมื่อดำเนินตามแผนคณะผู้ตรวจราชการกระทรวงคลังคาดว่าเป้าหมายทั้งรายได้และรายจ่ายจะทำได้ตามเป้าหมาย ตั้งแต่เริ่มประมาณปี 2561 วันที่ 10 พฤศจิกายน 2560 รายจ่ายประจำเบิกจ่ายไปแล้ว 455,369 ล้านบาท หรือร้อยละ 19.99 รายจ่ายลงทุน เบิกจ่าย 38,961 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.27 จากเป้าหมายร้อยละ 9.27
นายลวรณ แสงสนิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงคลัง กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาแผนปฏิรูปประมวลรัษฎากรของกรมสรรพากร หลังจากปรับโครงสร้างสรรพสามิตไปแล้ว โดยเฉพาะปัญหาจากการซื้อขายสินค้าออนไลน์ ยอมรับว่าการค้าขายผ่านอี-คอมเมิร์ซมีธุรกรรมสูงมากและการค้าขายทุกครั้งต้องเสียภาษี แต่ปัจจุบันยังเสียภาษีน้อยมากต้องศึกษาอีกหลายปัจจัยรอบด้าน เพราะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับหลายประเทศทั่วโลก เนื่องจากบริษัทขนาดใหญ่หลายแห่งจดทะเบียนในต่างประเทศ การปิดบัญชีซื้อขายเพื่อเก็บภาษีจึงพิจารณายาก เพราะหาต้นตอลำบาก
นายลวรณ กล่าวว่า ปัญหาดังกล่าวต้องร่วมมือกันระดับเวทีโลก กรมสรรพากรและกระทรวงคลังไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหาดังกล่าวและได้ศึกษาแนวทางต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งศึกษาประสบการณ์และบทเรียนในต่างประเทศ และต้องรอผลการพิจารณาของอัยการ เพื่อออกฎหมายจัดเก็บภาษีสินค้าออนไลน์ และประมวลรัษฎากรฉบับปัจจุบันยังไม่รองรับการค้าขายจากอี-คอมเมิร์ซได้อย่างครอบคลุม ส่วนจะปล่อยให้รายย่อยเข้มแข็งแล้วค่อยจัดเก็บ หรือมุ่งจัดเก็บจากรายใหญ่ ทุกอย่างยังไม่ได้ข้อสรุป ต้องศึกษาอย่างรอบคอบ เพื่อเสนอกระทรวงคลังพิจารณา ยอมรับว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกำหนดว่าเมื่อออกกฎหมายต้องเปิดเวทีรับฟังความเห็น เมื่อเป็นเรื่องจัดเก็บภาษีชาวบ้านส่วนใหญ่มักจะไม่เห็นด้วย จึงทำให้ออกกฎหมายลำบากมากขึ้น . – สำนักข่าวไทย